เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กว่า จากกรณีที่เกิดเหตุปะทะรุนแรงในอิสราเอลตั้งแต่ วันที่ 7 ต.ค. ผมได้ประชาสัมพันธ์อีเมลสำหรับญาติ เพื่อช่วยรวบรวมส่งข้อมูลประสานงานเฉพาะหน้ากับทางการไทย และอิสราเอล เพื่อดูแลความปลอดภัย ผมได้ประสานส่งข้อมูลกับทางการไทยทันทีหลังเปิดรับอีเมลตั้งแต่คืนวันที่ 7 ต.ค. แล้ว โดยส่งข้อมูลให้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ และในวันนี้จะส่งอีเมลเพิ่มเติมไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน โดยข้อมูลทั้งหมดเป็นตารางแบบออนไลน์ แยกชื่อ อีเมล หลักฐานระบุตัวตน และเบอร์โทรฯ ของญาติสำหรับติดต่อกลับ โดยอัปเดตข้อมูลในตารางแบบ Realtime ทันทีที่ทีมงานเปิดอ่านข้อความอีเมลและนำข้อมูลมากรอกในตาราง (เฉลี่ยไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับอีเมล) จนถึงเวลา 12.00 น. วันนี้ ทางผมได้รวบรวมแล้วทั้งสิ้น 228 กรณี แบ่งได้ดังต่อไปนี้ คนไทยที่เชื่อได้ว่าถูกจับเป็นตัวประกัน 9 กรณี

คนไทยอยู่ในเขตสู้รบ ต้องการความช่วยเหลือ 72 กรณี กรณีที่ญาติติดต่อไม่ได้ และไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน 140 กรณี คนไทยอยู่นอกเขตสู้รบ 7 กรณี 

นายพิธา ระบุ ทั้งหมดนี้ ทำไปเพื่อช่วยเป็นสื่อกลางในการประสาน “ชั่วคราว” เพราะในช่วงแรกที่เกิดเหตุ คนไทยในอิสราเอลอาจไม่ได้รับทราบช่องทางการติดต่อสื่อสาร และได้ติดต่อมาทางพรรค นายสุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ และผมเป็นจำนวนมาก หลากหลายช่องทาง เนื่องจากนายสุเทพ ได้เคยประสานช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลต่อเนื่องมาตั้งแต่ความขัดแย้งครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ค. 2021 หรือ 2 ปีที่แล้ว บัดนี้ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ได้จัดช่องทางการสื่อสารกับแรงงานไทยในอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้การติดต่อสื่อสารโดยตรงระหว่างคนไทยในอิสราเอลกับทางการไทยจะดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผมยินดีสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล และไม่มีเจตนาจะสร้างความสับสนในภาวะแบบนี้แต่อย่างใด

นายพิธา ระบุต่อว่า สำหรับกรณีที่ทางการไทยได้เปิดให้คนไทยในอิสราเอล สามารถลงทะเบียนแสดงความจำนงต้องการอพยพกลับประเทศไทยนั้น ผมได้หารือกับทาง นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี และเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรค ก.ก. โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. คนงานต้องได้รับสิทธิประโยชน์จาก กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ที่คนงานจ่ายสมทบก่อนเดินทางไปทำงาน กรณีต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุนเนื่องจากประสบปัญหาจากภัยสงคราม คนละ 15,000 บาท ตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. 2549 ข้อ2. เนื่องจากมีคนงานที่ยังคงมีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินเพื่อให้ได้เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลยังคงกังวลที่จะเดินทางกลับไทยหรืออพยพไปที่ปลอดภัยอื่น เพราะอาจทำให้สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลงได้ ทำให้ตกงานแต่ยังมีหนี้สินที่ไปกูยืมมาก่อนเพื่อมาทำงาน ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลต้องเจรจาวางเงื่อนไขการอพยพคนงานไทยที่ไปทำงานผ่าน โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) หรือโครงการความร่วมมืออื่นๆ หากสงครามยุติลง ให้คนงานที่ถูกอพยพในสภาวะสงคราม สามารถกลับไปทำงานได้ตามเดิม

นายพิธา ระบุอีกว่า ข้อ 3. เสนอให้รัฐบาลเจรจาผ่อนผันหรือดูแลแนะนำประเด็นหนี้สินของคนงาน ข้อ 4. กรณีคนงานไทยที่เข้าไปทำงานโดยไม่ผ่านกระทรวงแรงงาน หรือคนงานที่ลักลอบทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เสนอให้รัฐบาลดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และหากคนงานประเภทนี้ต้องการกลับขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับประเทศ สุดท้ายนี้ ผมขอใช้โอกาสนี้แสดงความเสียใจต่อผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมขอยืนเคียงข้างและช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบเหตุเดือดร้อน และผมขอสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทย ในการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยให้ปลอดภัยด้วยครับ.