เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง เสียงประชาชนต่อภาวะสงคราม กับ ความมั่นคงชาติ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,106 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,111 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 – 14 ตุลาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.5 สนับสนุน กองทัพและหน่วยงานความมั่นคง พัฒนาอาวุธปกป้องความมั่นคงชาติและความปลอดภัยของประชาชน

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.4 ต้องการให้กองทัพ  พัฒนาอาวุธทันสมัย พร้อมรบตลอดเวลา ร้อยละ 83.1 เห็นด้วยกับกองทัพ ในการซื้ออาวุธสงครามที่ทันสมัย ร้อยละ 75.1 กังวลต่อการถูกโจมตีที่กรุงเทพและหัวเมืองใหญ่จากกองเรือรบศัตรูประชิด อ่าวไทย ร้อยละ 75.0 ระบุประเทศไทยเสี่ยงต่อการก่อวินาศกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 74.6 กังวลต่อการถูกโจมตีที่กรุงเทพและหัวเมืองใหญ่จากเครื่องบินรบของศัตรู และร้อยละ 73.1 ระบุ ประเทศไทยเสี่ยงต่อการแพ้สงคราม

ที่น่าพิจารณาคือปัจจัยจำเป็นต่อการปกป้องความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.5 ระบุ กำลังพลและอาวุธสงครามที่ใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดสภาวะสงครามสู้รบขึ้น รองลงมาคือร้อยละ 88.4 ระบุ ขนาดของกำลังรบ ร้อยละ 87.9 ระบุ ผู้นำทางทหาร ร้อยละ 87.8 ระบุ คุณภาพของทหาร ร้อยละ 87.6 ระบุ ความพร้อมของทหารในการรุก โต้ตอบ ร้อยละ 87.6 ระบุ ขวัญกำลังใจของทหาร ในการสู้รบ ร้อยละ 87.5 ระบุ กำลังพลสำรอง ร้อยละ 87.4 ระบุ อาวุธ สงคราม เครื่องบินรบ เรือรบ และอื่น ๆ เทคโนโลยีทางทหาร ร้อยละ 87.4 ระบุ กวาดล้างผู้ก่อการร้ายและให้ความปลอดภัยต่อประชาชน ร้อยละ 86.6 ระบุ พลังอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศ ปกป้องผลประโยชน์ชาติ ร้อยละ 86.3 ระบุ การสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง นักการเมือง ในการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร และร้อยละ 85.7 ระบุ การสนับสนุนจาก พันธมิตรประเทศ ตามลำดับ

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของความมั่นคงของชาติที่เสี่ยงต่อสภาวะสงครามจึงมีความจำเป็นต้องสนับสนุนกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงของชาติในการพัฒนาอาวุธปกป้องความมั่น คงของชาติผลประโยชน์ชาติและความปลอดภัยของประชาชนในหลากหลายมิติได้แก่ ด้านอาวุธที่ทันสมัย ด้านขนาดของกำลังรบ ด้านผู้นำทางทหาร ด้านคุณภาพของทหาร ความพร้อมทางทหารในการรุกโต้ตอบ ด้านขวัญกำลังใจของทหารและด้านกำลังพลสำรอง เป็นต้น

จากการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบความแข็งแกร่งทางทหารของประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้วพบว่า ความมั่นคงของชาติทางอากาศและทางบกของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีพอสมควรแต่ความมั่นคงของชาติทางทะเลของประเทศไทยควรได้รับการสนับสนุนความแข็งแกร่งทางทหารเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน เพราะพบว่า ประเทศไทยมีตัวชี้วัดด้านการปกป้องรักษาความมั่นคงของชาติทางทะเลบางตัว เช่น เรือดำน้ำที่ประเทศไทยยังเป็นรองประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา และ เวียดนาม