เรียกได้ว่าสุดปังตั้งแต่ตอนแรกที่ออกอากาศ สำหรับละคร “พรหมลิขิต” ภาคต่อของละครสุดฮิตขวัญใจคนไทยและเอเชีย อย่าง “บุพเพสันนิวาส” ที่ทำกระแสออเจ้าโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง และล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้ออกอากาศตอนแรกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยในเนื้อเรื่องของตอนแรกนั้น ได้เปิดเผยถึงชีวิตบางส่วนของ “ท้าวทองกีบม้า” หรือชื่อของเธอคือ มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (โปรตุเกส: Maria Guyomar de Pinha) แต่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ (ฝรั่งเศส: Marie Guimar) เป็นภริยาของพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่รับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในละครดังกล่าวนั้น เธอยังได้เป็นเพื่อนกับนางเอก แต่ชีวิตกลับพลิกผันจนมีการกล่าวว่า ชีวิตที่เธอตกระกำลำบาก แต่นางเอกกลับบอกว่า “จบสวย” เป็นอย่างไร วันนี้มีคำตอบมาฝากกัน

โดยหากย้อนดูข้อมูลโดยแฟนเพจด้านประวัติศาสตร์ชื่อดังอย่าง “โบราณนานมา” ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.1 ล้านคน ได้เผยถึงเส้นทางชีวิตของ “ท้าวทองกีบม้า” เอาไว้ว่า “ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์)” ชีวิตตกอับ แต่จบสวย ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของ “มารี กีมาร์” ก็พลันดับวูบลงเมื่อ “พระยาวิไชเยนทร์” ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพียงไม่กี่วัน

ขณะที่พระยาวิไชเยนทร์ กำลังจะถูกประหารนั้น บางบันทึกระบุว่า “…[นาง] เศร้าโศกร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ…” บ้างก็ว่า “…นางมิได้ร่ำไห้ให้สามีแม้แต่น้อย แต่นางกลับถ่มน้ำลายรดหน้าสามี และไม่ยอมให้จูบลาลูก…” บาทหลวงอาร์ตุส เดอ ลียอน (Artus de Lionne) ที่เข้ามาเผยแผ่พระศาสนาในช่วงนั้น ได้ระบุเหตุการณ์การจัดการทรัพย์สินของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ดังกล่าวว่า “…วันที่ ๓๐ พฤษภาคม เขาได้เรียกตราประจำตำแหน่งของสามีนางคืนไป วันที่ ๓๑ ริบอาวุธ เอกสาร และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วันต่อมา ได้ตีตราประตูห้องหับทั่วทุกแห่งแล้วจัดยามมาเฝ้าไว้ วันที่ ๒ มิถุนายน ขุนนางผู้หนึ่งนำไพร่ ๑๐๐ คน มาขนเงิน เครื่องแต่งบ้านและจินดาภรณ์ไป…”

คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ พระยาวิไชเยนทร์ รับบทโดย หลุยส์ สก๊อต  และ ซูซี่-สุษิรา แน่นหนา ผู้รับบท แม่มะลิ หรือ ท้าวทองกีบม้า จากเรื่องบุพเพสันนิวาส

ด้วยเหตุนี้ มารีอา จึงมีสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว นางต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับการคุมขัง ดังปรากฏในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ความว่า “…สุภาพสตรีผู้น่าสงสารผู้นั้น ถูกโยนเข้าไปขังไว้ในโรงม้าอันคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ไม่มีข้าวของติดตัวไปเลย มีแต่ฟากสำหรับนอนเท่านั้น…”

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (หลวงสรศักดิ์) พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นบาทบริจาริกา มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต ดังปรากฏในพงศาวดารว่า “…ฝ่ายภรรยาฟอลคอน ได้ถูกรังแกข่มเหงต่าง ๆ บุตรพระเพทราชาก็เกลียดนัก ด้วยบุตรพระเพทราชาได้ไปเกี้ยวภรรยาฟอลคอน แต่ภรรยาฟอลคอนไม่ยอม บุตรพระเพทราชาจึงเกลียดและขู่จะทำร้ายต่าง ๆ…”

ตลอดเวลาทุกข์ลำบากนี้ นางพยายามหาทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา นายพลเดฟาร์ฌที่ประจำการที่ป้อมวิไชยเยนทร์ที่บางกอก ได้ให้สัญญากับนางว่าจะพาออกไปพ้นกรุงสยาม แต่นายพลเดฟาร์ฌได้บิดพลิ้วต่อนาง “..ถ้าพวกเขาพามาดามกงส์ต็องส์ออกไปแล้วไซร้ พวกคริสตังทั้งนั้นจะได้รับการข่มเหงจากพวกคนสยาม และจะพากันถูกลงโทษประหารอย่างอเนจอนาถ พวกคนป่าเถื่อนเหล่านั้นจะทำลายโรงคลังสินค้าของฝรั่งเศสเสีย อันจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวงแก่กิจการค้าของบริษัทในชมพูทวีป…”

บ้านวิชาเยนทร์ ที่พำนักของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ตั้งอยู่ที่ จ.ลพบุรี

นอกจากปฏิเสธนางแล้ว ยังได้กักขังหน่วงเหนี่ยวนางในหอรบและควบคุมอย่างเข้มงวด บาทหลวงเดอ แบซ ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “…เรายังได้ทราบต่อมาอีกถึงความทุกข์ทรมานที่เธอได้รับจากการถูกทอดทิ้งในคราวนั้น แม้กระทั่งน้ำก็ไม่มีให้ดื่ม…” หลังจากนั้นประวัติของนางก็หายไปช่วงหนึ่ง และปรากฏอีกครั้งว่านางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง มีชาวฝรั่งเศสบันทึกถึงนางว่า “…มาดามกงส์สต็องส์ได้ออกจากบางกอกด้วยกิริยาองอาจ ดูสีหน้ารู้สึกว่ามิได้กลัวตายเท่าใดนัก แต่มีความดูถูกพวกฝรั่งเศสมากกว่า…” หมอเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวถึงนางกับบุตรอย่างไม่แน่ใจว่า “…เจ้าเด็กน้อยกับแม่คงเที่ยวขอทานเขากินมาจนทุกวันนี้ หามีใครกล้าเกี่ยวข้องด้วยไม่…”

บ้านวิชาเยนทร์ ที่พำนักของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ตั้งอยู่ที่ จ.ลพบุรี

เรื่องราวของมาดามฟอลคอน หรือมารีอา กียูมาร์ ปรากฏอีกครั้ง โดยเธอเขียนจดหมายส่งไปยังบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๙ เพื่อขอให้บาทหลวงกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฝรั่งเศสที่สามีเคยเป็นผู้อำนวยการแก่นางบ้าง และพรรณนาความทุกข์ยากลำบากของนาง ความว่า “…พระผู้เป็นเจ้าจะไม่พิศวงในเวรกรรมและภาวะของข้าพเจ้าในขณะบ้างละหรือ ตัวข้าพเจ้านั้นหรือ เมื่อก่อนจะไปในที่ประชุมชนแห่งใดในกรุงศรีอยุธยา ก็ไปเช่นพระราชินี ข้าพเจ้าได้เคยรับพระมหากรุณาโดยเฉพาะโดยอเนกประการจากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน บรรดาเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ทั้งปวงก็นับถือไว้หน้า ตลอดจนไพร่ฟ้าประชาชนทั้งหลายก็รักใคร่ ต้องทำงานถวายตรากตรำด้วยความเหนื่อยยากและระกำช้ำใจ มืดมนอนธการไปด้วยความทุกข์ยาก ตั้งหน้าแต่จะคอยว่าเมื่อใดพระเจ้าจะโปรดให้ได้รับแสงสว่างบ้าง ตอนกลางคืนนางก็ไม่มีที่พิเศษอย่างใด คงแอบพักนอนที่มุมห้องพระเครื่องต้น บนดินที่ชื้น ต้องคอยระวังเฝ้ารักษาเฝ้าห้องเครื่องต้น…”

ท้าวทองกีบม้า โดย คึกเดช กันตามระ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากจดหมายดังกล่าวก็จะพบว่า ขณะนี้นางได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องต้นในวังแล้ว สอดคล้องกับ จดหมายเหตุฝรั่งเศสโบราณ ที่บันทึกการปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่องต้นของนาง ความว่า “…ภรรยา [ของนายคอนสแตนติน] เป็นท้าวทองกีบม้า ได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอด ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา…”

หุ่นขี้ผึ้งท้าวทองกีบม้า หมู่บ้านญี่ปุ่น จ.พระนครศรีอยุธยา

ในบันทึกของเมอซีเยอโชมง (คนละท่านกับเชอวาลีเยเดอโชมง) ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในปี พ.ศ. ๒๒๖๒-๒๒๖๗ ได้ให้ข้อมูลว่าหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า ๒,๐๐๐ คน

ทั้งนี้ ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์ ดังปรากฏจากบันทึกของเมอซีเยอโชมง ความว่า “…พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ…”

ซูซี่-สุษิรา แน่นหนา ผู้รับบท “ท้าวทองกีบม้า” จากเรื่อง พรหมลิขิต

จากความเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงโปรดปรานบุตรคนโตของนางมาก ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนติน ถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง

ในปี พ.ศ. ๒๒๖๐ รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือ ด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด โดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. ๒๒๖๕..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @โบราณนานมา, @หนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ, @broadcastthaitv, @susiroo, @Ch3Thailand