คำว่า ออกหว่า หมายถึง การออกจากฤดูฝน แต่ละบ้านจะจัดทำซุ้มราชวัตร หรือปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า ที่ชาวไทใหญ่เรียกกันว่า “กยองเข่งปุด” โดยจะทำซุ้มประตูบ้านให้เป็นรูปปราสาท ประดับประดาด้วยโคมไฟหูกระต่าย ตกแต่งด้วยดอกไม้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย ช่อตุง ประทีปโคมไฟ เปรียบเหมือนการต้อนรับพระพุทธเจ้าที่พระองค์เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

แต่ละบ้านจะจัดทำซุ้มราชวัตรขนาดพอเหมาะหน้าบ้านก่อนงานออกหว่าอย่างน้อย 3-5 วัน และจะมีซุ้มราชวัตรศูนย์กลางที่ชุมชนร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่งจะจัดล่วงหน้าอย่างน้อยสองวัน คือก่อนวันขึ้น 14 คํ่า เดือน 11 ของทุกปี โดยจะมีการตักบาตรพระสงฆ์ที่หน้าบ้านของแต่ละคนในเวลาตี 4 ตลอด 3 วัน ซึ่งถือเป็นการตักบาตรที่เช้าที่สุดในประเทศไทย เริ่มด้วยการตักบาตรอาหารสดในวันแรก ส่วนอีกสองวันที่เหลือจะตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง

ชาวอำเภอแม่สะเรียงมีความเชื่อว่า การตักบาตรที่หน้าบ้านของตนเอง จะเป็นสิริมงคลต่อบ้านและคนในครอบครัว พระภิกษุและสามเณรกว่า 200 รูป จะเดินบิณฑบาตไปตามถนนสายต่าง ๆ ในวันแรม 1-14 คํ่า เดือน 11 มีกิจกรรมแห่เทียนเหง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาเป็นประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาจากไทใหญ่

เทียนเหง เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า เทียนพันเล่ม และเรียกประเพณีนี้ว่า หลู่เตนเหง คำว่า หลู่ แปลว่า ถวาย หรือ ทาน คำว่า เตน แปลว่า เทียน และคำว่า เหง แปลว่า หนึ่งพัน ภายในขบวนมีการจัดสิ่งของเครื่องไทยธรรม เทียน 1 พันเล่ม โคมหูกระต่าย โคมกระบอก ตุงและตุงจ่องกรวยดอกไม้อย่างละ 1 พัน ในคืนวันแห่จะมีขบวนสตรีที่แต่งกายแบบหญิงไทใหญ่นำเครื่องไทยธรรมร่วมขบวน

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้นโคมหูกระต่ายที่ทำเป็นชั้น ๆ เหมือนฉัตร หรือรูปพีระมิด 1 ต้น และต้นเกี๊ยะ ซึ่งมาจากการนำไม้สนสามใบมาจักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 2.5 เมตร แล้วนำมามัดรวมกันเป็นต้นเกี๊ยะเพื่อจุดบูชาพระพุทธเจ้า

ขบวนแห่เทียนเหงจะแห่จากที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียงไปตามวัดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลแม่สะเรียง พร้อมกับมีการละเล่นที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชน มีการแต่งตัวเป็นเทพบุตร เทพธิดา และสัตว์ป่าหิมพานต์ การฟ้อนโต การฟ้อนกิ่งกะหล่า การฟ้อนกํ๋าเบ้อคง การฟ้อนเขียดแลว การฟ้อนผีโขน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการกลับจากสวรรค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการประเพณีออกหว่า ณ ลานวัฒนธรรม วัดอุทธยารมณ์ (วัดจองสูง) ถนนคนเดิน และนิทรรศการหน่วยงานต่าง ๆ ณ บริเวณรอบเทศบาลตำบลแม่สะเรียง กิจกรรม ณ ลานวัฒนธรรม วัดอุทธยารมณ์ วัดศรีบุญเรือง อาทิ ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองแม่สะเรียง, กาดหมั้ว ครัวฮอม การประกวดธิดาออกหว่า ณ เวทีกลางหน้าสถานีตำรวจภูธรแม่สะเรียง และกาดหมั้วครัวฮอม

สำหรับงาน ประเพณีออกหว่า เทศกาลออกพรรษาอำเภอแม่สะเรียง ประจำปี 2566” วันที่ 28-30 ตุลาคม 2566 แบ่งออกเป็นสามมิติ ดังนี้

มิติที่ 1 การตักบาตรตอนตี 4 เริ่มด้วยการตักบาตรอาหารสุก ในเช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2566 และตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง เช้าวันที่ 29-30 ตุลาคม 2566 การตักบาตรตอนตี 4 ไม่เหมือนตักบาตรเทโว พระสงฆ์ประมาณ 200 รูปจะเดินไปมาตามถนนสายต่าง ๆ ในเขตเทศบาลตำบลแม่สะเรียง โดยพี่น้องชาวอำเภอแม่สะเรียง จะตกแต่งราชวัตรเพื่อตักบาตรแด่พระสงฆ์ โดยมีความเชื่อที่ว่าได้ตักบาตรกับพระอุปคุต

มิติที่ 2 กิจกรรมรื่นเริงและลานวัฒนธรรม แบ่งเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ ลานวัฒนธรรม ณ ลานวัฒนธรรมวัดอุทยารมณ์ (วัดจองสูง) วันที่ 28 และ 29 ตุลาคม 2566 โดยกิจกรรมกาดหมั้วครัวฮอม ลานวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. และเวลา 20.00 น. เชิญชมพิธีเปิดลานวัฒนธรรม ท่านจะพบกับนิทรรศการมีชีวิตต่าง ๆ ทางด้านวัฒธรรมของชาวอำเภอแม่สะเรียง อาหารท้องถิ่น การแต่งกาย การแสดง เคยมีนักท่องเที่ยวกล่าวไว้ว่า เหมือนเข้ามาอีกเมืองหนึ่งเมืองที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน และ งานรื่นเริง ณ เวทีกลาง หน้าสถานีตำรวจภูธรแม่สะเรียง วันที่ 28-30 ตุลาคม 2566 ประกอบด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมของนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในอำเภอแม่สะเรียง และใกล้เคียง พิธีเปิดงานประเพณีออกหว่า และการประกวดธิดาออกหว่า

มิติที่ 3 ขบวนแห่เทียนเหง ในค่ำคืนวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. สัมผัสกับขบวนแห่เทียนเหง (เทียนพันเล่ม) เกือบ 20 ขบวน โดยจะยกเรื่องราวประเพณีออกหว่า มาให้สัมผัสบนท้องถนน.