นโยบายหาเสียงหลายนโยบาย ดันออกมารวดเร็วทันใจ ทั้งการลดค่าไฟ ลดน้ำมันดีเซล พักหนี้เกษตรกร 3 ปี หรือกระทั่งการลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า (บางเส้นทาง) 20 บาทตลอดสาย

ทอล์กออฟเดอะทาวน์

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าน่าเสียดาย เพราะผลงานที่ออกมาทั้งหมด กลับถูกกลบด้วยปัญหาความว้าวุ่นจาก “โครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท” ที่กลายเป็นประเด็น ทอล์ก ออฟเดอะทาวน์ จนถึงเวลานี้…ยังอลวน…อลเวง…หาทางออกไม่เจอ เพราะต้นตอใหญ่ไม่ใช่มีปัญหาแค่เรื่องเงินเท่านั้น !! แต่ยังมีสาเหตุจากอีกหลายประเด็น !! หากว่ากันตามนโยบายหาเสียงที่พรรคเพื่อไทย เคยประกาศไว้ตั้งแต่แรกว่า…จะแจกเงินดิจิทัลให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนแบบถ้วนหน้า มีคนเข้าข่ายได้รับเงิน 54.8 ล้านคน ใช้งบประมาณมหาศาลสูงถึง 5.48 แสนล้านบาท กลับยังไม่ได้ลงรายละเอียดโครงการออกมามากนัก  จนถึงวันนี้ โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตฯ ยังไม่ไปถึงไหน? เหนืออื่นใด? ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทั้งแหล่งเงิน ทั้งกลุ่มคนที่ได้รับเงิน ทั้งระบบที่นำมาใช้ดูแลการใช้จ่ายเงินหรือรับเงิน รวมถึงวิธีการจ่ายเงินให้ร้านค้า ณ เวลานี้ยังยุ่งอีนุงตุงนังไม่จบ!

ฐานะการคลังเปราะบาง

สะท้อนให้เห็นว่า…นโยบายที่ออกมา คิดไม่จบ ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงในทันที ยิ่งเมื่อไปดูสถานะทางการคลังและงบประมาณของประเทศ ณ ตอนนี้ต้องบอกว่ามีความสุ่มเสี่ยงอย่ามาก อย่างแรก…คือ ความเปราะบางทางวินัยทางการคลัง เพราะหากจำกันได้ในช่วงวิกฤติโควิด ประเทศไทยเคยกู้เงินมาใช้ประคับประคองประเทศแล้วถึง  1.5 ล้านล้านบาท และต้องแลกมาด้วยหนี้สาธารณะที่พุ่งทะลุเพดาน 61% จนทำลายวินัยการคลัง แถมต่อมา…ต้องทำลายวินัยการคลังครั้งที่ 2 ด้วยการขยายเพดานกู้ยืมเงินทางอ้อม ผ่านมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อหาเงินไปจ่ายประกันรายได้ข้าวให้ชาวนา โดยหนี้สาธารณะแตะ 62%  ของจีดีพี

นักวิชาการรุมค้าน

ทำให้วิธีการใช้งบประมาณของรัฐบาล ถูกจำกัดจำเขี่ยเหมือนมีชนักติดหลัง แถมถูกจับจ้องจากหลายฝ่ายว่าต้องใช้เงินให้คุ้มที่สุด เพราะตอนนี้ต้องบอกเงินบนหน้าตักของประเทศ เหลือไม่เยอะแล้ว อีกทั้งยังอยู่ท่ามกลางปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยสงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงครามการค้า ภัยธรรมชาติ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องคิดให้ดีก่อนใช้จ่าย ส่งผลให้โครงการแจกเงินดิจิทัล ที่ต้องใช้งบกว่า 5.48 แสนล้านบาท ถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายว่าจะไม่คุ้มค่า และสร้างความเสี่ยงให้กับประเทศในระยะยาว เช่น แบงก์ชาติ และอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ นักวิชาการมีการรวมตัวกันล่าชื่อคัดค้านนโยบายนี้ บางส่วนขอให้ลดขนาดโครงการลง เพื่อให้ใช้งบประมาณน้อยกว่าเดิม

ยอมเลิกรัศมี 4 กม.

ด้วยนโยบายหาเสียงที่เคยประกาศไว้ และศักดิ์ศรีที่ค้ำคออยู่ ทำให้ “นายกฯเศรษฐา” ต้องประกาศหลายครั้ง ว่า รัฐบาลเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แบบ 100% เพื่อต้องการปลุกเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนมา และเรียกความน่าเชื่อถือทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง หลังถูกตราหน้าเป็นรัฐบาลไม่ตรงปก ทั้งจากการพลิกขั้วทางการเมืองจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วรอบหนึ่ง และหาก “แจกเงินดิจิทัล” ยังไม่ทำอีก คงทำให้กองเชียร์แทบจะหมดศรัทธา อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เริ่มมีเค้าโครงชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัลฯ ซึ่งมี “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง เป็นประธาน ได้ตั้งโต๊ะแถลงสรุปรายละเอียด ก่อนส่งให้ คณะกรรมการเงินดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา ได้แก่ การแก้ไขรัศมีการใช้จ่ายเงินจาก 4 กม.เป็นซื้อขายใช้ได้ระดับอำเภอ  และให้ธนาคารกรุงไทย เข้ามาช่วยพัฒนาระบบใหม่ โดยไม่ใช้แอปเป๋าตัง  แต่ยังมีการแบ่งประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอีก 2 เรื่องใหญ่ คือ การปรับเงื่อนไข ไม่แจกเงินให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้า แต่จะเหลือแค่ 3 ทางเลือกว่า จะแจกเฉพาะบัตรคนจน 15 ล้านคน ตามที่แบงก์ชาติเสนอ หรือเลือกตัดเฉพาะคนที่มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท หรือ 50,000 บาทออกไป เพื่อให้คนผ่านเกณฑ์น้อยลงเหลือ 43 ล้านคน หรือ 49 ล้านคน ซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้อีกหลายหมื่นล้านบาททีเดียว ส่วนแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งรัฐบาลมีแนวโน้มเลือกใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นหลัก ผ่านวิธีทำงบประมาณผูกพัน 4 ปีแทน เพื่อลดแรงกดดันไม่ให้เกิดหนี้สาธารณะทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่วิธีนี้มีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การจัดทำงบประมาณปี 67 ที่ล่าช้าออกไป 7-8 เดือน จะทำให้การแจกเงินดิจิทัลต้องล่าช้าตามไปด้วย จากเดิมกำหนดเริ่ม 1 ก.พ.67 เลื่อนไปเป็นช่วงเดือน เม.ย. 67 หรือ พ.ค. 67 แทน

วุ่นแน่แลกเงินสดรอ 4 ปี

ต่อมา…คือ ปัญหาการนำเงินดิจิทัล 4-5 แสนล้านบาท แลกออกมาเป็นเงินสด จะทำไม่สามารถทำได้ทั้งหมดทันที เพราะการที่รัฐบาลแบ่งทำงบผูกพัน 4 ปี สมมุติว่าเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท จะทำให้ร้านค้า สามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินสดได้เพียงปีละ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาว่า ใคร?จะยอมถือเงินดิจิทัลไว้นาน และคนถือนานกว่าจะได้ประโยชน์อะไร? เพราะไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่า หากรัฐบาลชุดนี้อยู่ไม่ครบเทอม 4 ปี แล้วใครจะนำเงินมาจ่าย เงินดิจิทัลนี้ เป็นเพียงแค่ตัวเลขลอยลมเท่านั้น  ขณะที่การขยายเพดานก่อหนี้ตามมาตรา 28 จาก 32% เป็น 40-45% ของงบประมาณ เพื่อขอยืมเงินจากธนาคารออมสินมาใช้ก่อนนั้น สรุปแล้วว่าทำไม่ได้ เพราะอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน

กู้เงินปุ๊บเครดิตพังปั๊บ

ส่วนการใช้แหล่งเงินกู้โดยตรง ก็ทำได้ยากในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกพุ่งสูงไม่หยุด จะกลายเป็นต้นทุนทางการเงินมหาศาลของรัฐบาลโดยทันที อีกทั้งยังจะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล ซึ่งประเมินคร่าว ๆ หากกู้เงิน 5 แสนล้าน จะเพิ่มหนี้สาธารณะถึง 3% ของจีดีพีทีเดียว ที่สำคัญ!! สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้ง มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ ฟิทช์ เรทติ้งส์ กำลังจับตาดูการใช้งบประมาณของโครงการนี้อยู่ หากมองว่า…มีการใช้เงินแบบสุ่มเสี่ยง จะนำไปสู่การลดเครดิตประเทศไทยในอนาคตได้ ขณะที่แหล่งที่มาจากการเพิ่มรายได้ส่วนอื่นก็ยังไม่แน่ชัด

ป้องกันโกงไม่เคยพูดถึง

ดังนั้น!! เรื่องแหล่งเงินงบประมาณ เชื่อว่ายังไม่จบลงง่าย ๆ แน่นอน เพราะแม้รัฐบาล พยายามเลือกการใช้แหล่งเงินจากงบประมาณประจำปีก่อน แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า โครงการแจกเงินเช่นนี้จะทำงบผูกพันระยะยาวได้หรือไม่ เพราะปกติโครงการที่ทำงบประมาณผูกพัน เท่าที่เห็นจะทำได้เฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเท่านั้น แม้ล่าสุด สำนักงบประมาณได้ยืนยันแล้วว่าสามารถทำได้ก็ตาม แต่ก็ยังต้องติดตามตอนต่อไป  นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่สังคมเป็นกังวล เกี่ยวกับการการฉ้อโกงสารพัด เช่น นำสินค้าที่ซื้อไปแลกเป็นเงินสด หรือ กลุ่มบุคคลที่ได้รับประโยชน์ท้ายที่สุดจะเป็นใคร เงินจะตกไปอยู่เฉพาะร้านค้ารายใหญ่ในห่วงโซ่ปลายทางหรือไม่ ?ตรงนี้!! ก็ยังไม่มีความชัดเจนอีกเช่นกัน

ทั้งหมดต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกฯ และ รมว.คลัง เป็นประธาน เคาะออกมาให้ชัดเจนคาดกันว่า พ.ย.นี้คงได้เห็น แต่จะตอบโจทย์หรือสร้างปัญหา ก็คงต้องอดใจรอกันสักหน่อย!!

ต้องเพิ่มรายได้

บุรินทร์ อดุลวัฒนะกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลได้ทบทวนเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพราะถ้าหากเลือกจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย จะลดภาระงบประมาณ และลดความกดดันต่อหนี้สาธารณะ ภาระการคลัง ซึ่งการแจกเงินให้กับคนที่ต้องการและเดือดร้อนอย่างคนรายได้น้อยจะช่วยให้เงินหมุนออกมามากกว่าคนที่ไม่ได้ต้องการจริง และเมื่อนำไปใช้กับร้านค้าเล็ก ๆ ก็จะช่วยเศรษฐกิจได้อีก และยังช่วยให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ได้คลายกังวลไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของแหล่งเงิน ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เพราะสามารถนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ได้อีกมาก ต่างจากช่วงโควิด ซึ่งเป็นช่วงเกิดวิกฤติ คนตกงานขาดรายได้ และมีข้อมูลที่ระบุชัดเจนว่าทำไมถึงต้องแจกเงิน

“การแจกเงินช่วงโควิดตอนนั้นมีวิกฤติ แต่ในช่วงเวลานี้เศรษฐกิจขยายตัวได้แม้จะไม่ดีมาก ซึ่งเป็นช่วงที่งบจำกัด ทำให้มองว่าการนำเงินนี้ไปลงทุนอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์มากกว่าอย่างการศึกษา การแพทย์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ขณะที่หนี้ครัวเรือนสูง การแจกเงินก็ดีต่อครัวเรือนในระยะสั้น แต่อาจต้องมีวิธีแก้ปัญหาด้วยรูปแบบอื่น ซึ่งสุดท้ายแล้วโจทย์ของรัฐบาลคือ ต้องเพิ่มรายได้ให้กับคนไทยให้อย่างยั่งยืนได้อย่างไรเพื่อให้คนไทยอยู่ได้”

ค้านเกณฑ์คัดคนรวย

“สมชาย พรรัตนเจริญ” อดีตนายกสมาคมค้าส่งและค้าปลีกไทย บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการตัดคนรวยในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะรัฐบาล จะนำอะไรมาวัดว่า ใครจนหรือใครรวย อย่างกรณี… คนที่มีเงินฝาก 1 แสนบาท หากจัดอยู่ในประเภทคนรวย แล้วคนที่มีเงินฝาก 99,999 บาท จัดอยู่ในประเภทคนจนใช่หรือไม่ ฉะนั้น…จึงขอเสนอแนะแนวทางการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่รัฐบาล โดยหันมาใช้ฐานข้อมูลเดิมของคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อไม่ให้เสียเวลา ขณะเดียวกันควรเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นการทยอยแจกให้เดือนละ 2,000-3,000 บาท โดยใช้ได้เฉพาะร้านค้ารายเล็กที่ไม่ใช่รายใหญ่ที่มีเครือข่ายหรือมีสาขาแฟรนไชส์

ส่วนบุคคลทั่วไปที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลอาจให้ความช่วยเหลือด้วยการแจกคูปองบัตรรถไฟฟ้า แทนการลดราคาเหลือคนละ 20 บาทต่อเที่ยว แล้วนำเงินไปชดเชยแบบเหมารวมให้กับเจ้าของสัมปทานที่อาจได้มากกว่าคนเดินทางจริงด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกันรัฐบาลอาจเข้าไปช่วยเหลือด้วยการชดเชยค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เช่น อาจช่วยเหลือกรณีที่ครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าที่เดือนละ 1,000 บาท โดยรัฐบาลให้ส่วนลด 50% ในระยะเวลา 1 ปี หรือการดำเนินการในส่วนอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ ก็จะช่วยให้ประชาชนเหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้น.

ทีมเศรษฐกิจ