เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกลุ่มรถโดยสารร่วมบริการสาธารณะ ​ทั้งรถตู้​ รถมินิบัส รถเมล์ รถโดยสาร และรถสองแถว​โดยสาร นับร้อยคัน เดินทางมายังกระทรวงพลังงาน​ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เรื่องความเดือดร้อนราคาค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับยานยนต์เอ็นจีวี ในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ

ทั้งนี้ น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษา รมว.พลังงาน​ เป็นผู้แทนลงมารับหนังสือ ​พร้อมหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการ​จากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้สภาพคล่องของกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารสาธารณะยังไม่ฟื้นตัว​ตั้งแต่ได้รับผลกระทบปัญหาโควิด-19 โดยจำนวนผู้โดยสารลดลงมาก ​ที่มาจากกำลังซื้อและการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้า​​ ประกอบกับต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี เนื่องจากราคาก๊าซเอ็นจีวี ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 19.59 บาทต่อกิโลกรัม​ เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน​ 2566 ยิ่งซ้ำเติมอย่างหนัก​ ทำให้บางรายต้องหยุดเดินรถ​ ส่งผลให้จำนวนตู้โดยสารสาธารณะหายไปจากระบบเกือบ​ 1,000 คัน​ จาก​เดิมกว่า ​2,000 คัน

โดยที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการ ต้องการเรียกร้องกระทรวงพลังงาน​ช่วยเหลือ​ ด้วยการลดราคาขายก๊าซเอ็นจีวี ให้เหลือ​ 12.74 บาทต่อกิโลกรัม​ และขยายเวลาการใช้บัตรส่วนลดเพิ่มเติมอีก 2 ปี รวมทั้งยกเลิกกำหนดปริมาณการเติมก๊าซเอ็นจีวี ที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน และขอให้มีบัตรส่วนลดค่าเชื้อเพลิงที่ใช้น้ำมันดีเซลของกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ

หลังจากการยื่นหนังสือ​ นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ ปริมณฑล เปิดเผยว่า​ จะให้เวลา​กระทรวงพลังงานพิจารณา 7​ วัน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะเดินหน้าปิดกระทรวงพลังงานอีกครั้ง พร้อมกับกลุ่มรถบรรทุกเข้ามาเพิ่มเติม

นายบรรยงค์​ อัมพรตระกูล ประธานชมรม​ รถ​ร่วม​ ขสมก.​ กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก.​ ได้รับผลกระทบมาก​ เพราะค่าโดยสารไม่ได้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น​ โดยยังอยู่ที่​ 8.50 บาท​ หากคำนวณต้นทุนปัจจุบัน ควรจะอยู่ที่​ 12-14 บาท​ ทำให้จำนวนรถร่วม ขสมก. ลดลงจากเดิม 6,000 คัน เหลือ 1,600 คัน ในระบบ​

ทั้งนี้​ แนวทางเดิมของ คณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน จะเพิ่มราคาก๊าซเอ็นจีวี ขึ้นอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม ​ในวันที่ 16 ธันวาคม 2566 รวมขึ้นราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาขายอยู่ที่ 20.59 บาท