เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย” ได้โพสต์รปภาพพร้อมข้อความระบุว่า “แถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก่อนการเข้าบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 อันเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏอยู่ที่หน้า 4 รัฐบาลได้กล่าวถึงนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย โดยการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นโยบายดังกล่าวจึงเป็นนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ที่ใช้จ่ายจากเงินแผ่นดิน

แม้รัฐบาลจะมีอำนาจดำเนินนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาแล้วก็ตาม แต่เมื่อนโยบายดังกล่าวต้องจ่ายจากเงินแผ่นดิน จึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 กล่าวคือ จะต้องตราขึ้นเป็นกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการใช้เงิน และต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีทางเลือกเพียงสองทาง คือ ออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงินที่ต้องใช้ในการเติมเงินให้ประชาชน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีเพราะการวินิจฉัยว่าเป็นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง เป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหาร ส่วนทางเลือกที่สอง คือ เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติวงเงินใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ถ้ามีเงินเหลือพอ) โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ โอนงบประมาณรายจ่ายหรือออกเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือเสนอโครงการเพื่อใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งจะเริ่มโครงการได้ก็ต้องรอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบอนุมัติการใช้จ่ายเงินตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวก่อน

ไทยเป็นสังคมนิติรัฐ (Legal State) หรือสังคมที่ยึดถือกฎหมายเป็นหลักในการปกครอง การดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลเมื่อต้องจ่ายจากเงินแผ่นดินจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รัฐบาลจึงมีทางเลือกเพียงสองทางที่จะใช้เงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ส่วนจะดำเนินการโดยวิธีใดถือเป็นดุลพินิจของรัฐบาล แต่ควรแถลงให้ประชาชนทราบเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย 2 พฤศจิกายน 2566″

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เพจ “สภาทนายความแห่งประเทศไทย”