เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีผิวจราจรทรุดตัว จุดโครงการก่อสร้างไฟฟ้าลงดิน ปากซอยสุขุมวิท 64/1 เป็นเหตุให้มีรถบรรทุกสิบล้อตกลงไปในช่องทางบนถนน ในพื้นที่เขตพระโขนง เมื่อวันที่ 8 พ.ย. จนนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่า รถบรรทุกอาจมีน้ำหนักเกินกว่ากำหนด และมีสติกเกอร์รูปดาว สีเขียว อักษรภาษาอังกฤษ ตัว B ติดหน้ารถบรรทุกสิบล้อ ซึ่งอาจเป็นเรื่องส่วยสติกเกอร์ ว่า ผู้กำกับ สน.พระโขนง ยืนยันว่ายังไม่ปรากฏการรับสินบนหรือส่วย แต่มีการตั้งคำถามว่าสติกเกอร์สีเขียว ตัว B หมายความว่าอย่างไร โดย ผู้กำกับ สน. ให้ข้อมูลว่า ตัว B เป็นตัวย่อชื่อเล่นของเจ้าของบริษัทผู้รับเหมารถบรรทุก ที่ชื่อว่า “บิ๊ก” และสีเขียวคาดว่าเป็นสีที่เขาชอบซึ่งใน เบื้องต้นพบว่ามีรถบรรทุกประมาณ 4-5 คันเท่านั้นในพื้นที่พระโขนง ที่มีสติกเกอร์ดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่าในเขตพื้นที่อื่นมีจำนวนเท่าใด  

นายปิยรัฐ กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ตนเองพยายามติดตามเข้าไปในไซต์งานก่อสร้าง เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นกระบวนการทอยดิน หรือถ่ายดินออกจากที่เกิดเหตุใส่รถบรรทุกที่สำรองไว้ เพื่อชั่งน้ำหนักพร้อมกัน แต่ท้ายสุดเจ้าหน้าที่พยายามขับรถไปที่ไซต์งานก่อสร้าง ตนพยายามตะโกนเรียกแล้ว แต่ไม่มีใครฟัง โชคดีว่าวิศวกรในไซต์งานรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล จึงยังพอเก็บตัวอย่างดินกลับมาได้ แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการชั่งน้ำหนักดินดังกล่าว

“หลังจากนี้ผมต้องมีการตรวจสอบจากทุกหน่วยงาน ว่ามีการใช้ดินจากตัวอย่างหรือไม่ เพราะมีลักษณะเป็นดินเลนที่อุ้มน้ำ ทำให้มีน้ำหนักมากกว่าดินปกติทั่วไป สามารถนำไปคำนวณตามหลักวิศวกรรม และวัดน้ำหนักรถปกติแล้วเป็นเท่าใด ซึ่งตามที่ปรากฏข้อมูลก็พบว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแน่นอน” นายปิยรัฐ กล่าว

เมื่อถามถึง ส่วนสาเหตุที่รถบรรทุกเข้ามาในเมืองได้โดยไม่ผ่านการตรวจสอบนั้น นายปิยรัฐ กล่าวว่า ตนไม่อยากปรักปรำเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่มีหลักฐาน แต่เมื่อจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากไซต์ก่อสร้างไม่มาก ไม่เกิน 300 เมตร จึงมีการว่าจ้างบริษัทรถบรรทุกมารับผิดชอบ แต่รถบรรทุกในเมืองจำเป็นต้องมีใบอนุญาตและห้ามวิ่งในเวลาห้ามวิ่ง รวมถึงน้ำหนักต้องไม่เกิน 15 ตัน อย่างไรก็ตาม กทม. อ้างว่าไม่มีตาชั่งสำหรับชั่งน้ำหนักรถบรรทุก จึงเป็นปัญหาและช่องโหว่ให้เกิดการลักลอบขนส่งน้ำหนักเกิน

นายปิยรัฐ กล่าวด้วยว่า รถบรรทุกมักจะบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นเท่าตัวเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ถ้ารถบรรทุกรับน้ำหนักได้ 25 ตัน ก็ต้องบรรทุก 30-40 ตันขึ้นไปอยู่แล้ว ซึ่งถนนไม่สามารถรองรับได้ ก่อให้เกิดผู้บาดเจ็บซ้ำซ้อน ตราบใดที่มีช่องโหว่ ผู้รับเหมาที่ยังเห็นแก่ตัว ปัญหาตกอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐว่าจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำในพื้นที่ กทม. อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงรถบรรทุก แต่รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจสอบทั้งรถบรรทุกน้ำหนักเกินและแผ่นรองพื้นถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะยังมีพื้นที่ในกรุงเทพฯ ลักษณะนี้อีกหลายแห่ง ต้องคอยจับตาดูและตรวจสอบว่าจะเกิดเหตุแบบนี้ซ้ำขึ้นอีกหรือไม่

เมื่อถามว่า ในกรณีนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วยหรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ทั้ง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และสมาพันธ์รถบรรทุก ต่างยืนยันว่ามีมูล ตนเองในฐานะผู้แทนเขตต้องตรวจสอบ แต่ตนเองไม่มีข้อมูลเชิงลึก จึงต้องรอนายวิโรจน์ตอบเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ยังไม่ตอบเรื่องนี้อย่างชัดเจนนัก ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จะเดินทางเข้าไปพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในวันที่ 13 พ.ย. นี้ โดยจะถือโอกาสนี้สอบถามกรณีดังกล่าวโดยตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงคณะอนุกรรมการฯที่ศึกษาเรื่องส่วยทางหลวง จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพื่อหาคำตอบต่อไป เพราะปัญหาเรื่องส่วยรถบรรทุก ทำให้เกิดเหตุอุกอาจระดับประเทศ ที่สังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแล้วถึง 2 คน ในอดีต.