เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 13 พ.ย. ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด ได้สรุปผลโพล มติชนxเดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เดลินิวส์ออนไลน์ และเครือมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และมติชนสุดสัปดาห์ เพื่อจัดโพลแสดงความเห็นว่ารัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร? แบ่งเป็น 2 ประเด็น ปัญหาปากท้อง และปฏิรูปโครงสร้าง ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาทุกช่องทางของเดลินิวส์และมติชน จากทั้งหมด 42,848 โหวต ปิดสรุปผลโหวตมีข้อมูลน่าสนใจเป็นอย่างมาก

เริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลโพลโดย คุณปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวว่า คนเข้ามาแสดงความเห็นจากโพลครั้งนี้มีหลากหลายหน้าตา ถ้าพูดถึงดาราเป็นผลบวกของประชาชน เพราะจะประชาชนทั่วไปที่ได้รับเห็นรับชมจากดาราจะเข้ามาร่วมโหวต แต่ถ้าเป็นนักการเมือง จะมีทั้งชอบนักการเมืองรายนั้น หรือไม่ชอบก็ไม่สนใจโพลนี้เลย

ทั้งนี้หากดูจากโพลเห็นว่าคนอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปมีถึง 80% ให้ความสนใจ แต่ขณะที่อายุน้อยลงมาให้ความสนใจน้อย สะท้อนว่ากระแสการเมืองพอรัฐบาลที่ตัวเองชื่นชอบไม่ได้ ก็ไม่สนใจ ซึ่งส่วนตัวอยากให้คนอีกรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้จะส่งผลดีต่อประเทศชาติ โดยการทำโพลถ้ายิ่งมีส่วนร่วมมากและยิ่งอายุน้อยจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

“ผมอยากสื่อสารว่าอยากให้คนอายุน้อยมีส่วนร่วมกับการทำโพล จะยิ่งเป็นผลดีต่อประเทศชาติ เพราะอนาคตประเทศขึ้นอยู่กับเสียงของพวกคุณ”

“จากโพลมีทั้งคนอยากให้แจกปลาแต่ส่วนหนึ่งเขาอยากได้อุปกรณ์ส่งเสริมให้จับปลาง่ายขึ้น ตอนนี้คนมองเรื่องการตัดค่าใช้จ่าย ชาวนาต้องการรัฐบาลลดต้นทุน เป็นจุดสำคัญ ชาวนาชาวสวนเป็นพลเมืองประชาชนหลักของประเทศไทย อยากให้รัฐบาลช่วยลดต้นทุน ทุกรัฐบาลพูดว่าจะทำแต่ไม่เห็นที่จะทำจริงจัง”

คุณปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการ สายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บมจ.มติชน กล่าวว่า ตัวเลขผู้ร่วมทำโพลยอมรับว่าครั้งนี้หัวข้อ รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? การมีส่วนร่วมไม่เท่ากับตอนโพลเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนี้ลดไปครึ่งหนึ่ง คือมีคนโหวตช่วงเลือกตั้ง 80,000 โหวต ครั้งนี้มีกว่า 40,000 โหวต ซึ่งต้องมาตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะช่วงระยะหลังข่าวการเมืองซึ่งได้รับความนิยมติดตามอ่านตั้งแต่ต้นปีจนถึงเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นคนตื่นตัวการเมืองลดลง

ทั้งนี้สิ่งที่น่าคิดและเห็นชัดคือมีความขัดแย้งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล การได้มาซึ่งรัฐบาลไม่ได้รับความเห็นด้วยของคนทั้งหมดในสังคม ทำให้ตัวเลขคนทำโพลครั้งนี้มีนัย จากความรู้สึกไม่สนับสนุนวิธีการจัดตั้งรัฐบาล จึงอาจไม่เข้าร่วมแสดงความเห็น แต่ไม่ว่าโจทย์เป็นอย่างไรจะเป็นโจทย์ใหญ่รัฐบาล เพราะเป็นรัฐบาลหลังรัฐบาลประยุทธ์ และใช้ต้นทุนไปหมด รวมทั้งจากกระแสคนอ่านข่าวการเมือง ยังไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมกับรัฐบาลชุดนี้

ด้าน ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โพลมติชนxเดลินิวส์ เป็นการสำรวจความคิดเห็นกว่า 40,000 คนถือว่าเยอะมาก เพราะที่ผ่านมาสำรวจวิจัยต่างๆ 2,000 คน โพลนี้มากกว่ามาตรฐานเยอะ แต่ช่วงโพลเลือกตั้ง 80,000 คน เพราะคนอยากจะส่งเสียง โดยบรรยากาศเลือกตั้งกับหลังเลือกตั้งแตกต่าง และเห็นจากการหาเสียงพรรคการเมืองเน้นไปที่แก้เชิงโครงสร้าง ปฏิรูปนั่นนี่ส่วนใหญ่ แต่พอหลังเลือกตั้งมาถึงโลกความเป็นจริง คีย์เวิร์ด คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อย่างไร ทำให้โพลนี้จะสะท้อนให้เงินในกระเป๋าไม่น้อยลงและเติมมากขึ้น

ขณะที่จำนวนคนโหวต 40,000 คน สะท้อนเรื่องสัดส่วนประชากรจริงได้พอสมควร โดยถ้าดูเรื่องเพศผู้ชายสัดส่วน 60% หญิง 33% และกลุ่ม LGBT 5% ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการให้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องมากถึง 60.23% มากกว่าแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยส่วนใหญ่มี 25% ต้องการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน, มี 21% ต้องการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน หนี้สาธารณะ, 17% แก้ปัญหาการเกษตร, มีถึง 16% ต้องการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท, 15% เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี และ 6% ปัญหาอื่นๆ

ทั้งนี้ ความน่าสนใจ คนกรุงเทพฯ คนภาคกลางคือภาคที่ต้องการเงินดิจิทัลวอลเล็ตมากกว่าแก้ปัญหาเกษตร แต่ภาคอื่นๆ ต้องการแก้หนี้สิน ลดค่าน้ำค่าไฟ และเพศหญิงให้ความสนใจการเพิ่มค่าแรงมากกว่าดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่กลุ่มอายุ 51 ปีต้องการลดน้ำมัน, กลุ่มคนอายุ 31-40 ปี คนวัยกลางคนต้องการเพิ่มค่าแรงมากกว่าดิจิทัลวอลเล็ต ในขณะที่เพิ่งทำงานใหม่ ต้องการเพิ่มค่าแรงมากกว่าแก้ปัญหาหนี้สิน นอกจากการให้ลดค่าน้ำค่าไฟ สุดท้ายเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก ต้องการเงินเดือนค่าตอบแทนมากกว่า และต้องการเงินดิจิทัลมากกว่าแก้ปัญหาหนี้สิน

ด้านประเภทการศึกษา กลุ่มปริญญาตรี ต้องการเพิ่มรายได้มากกว่าดิจิทัลวอลเล็ต แต่ต่ำกว่าปริญญาตรีต้องการดิจิทัลวอลเล็ตมากกว่าแก้ปัญหาเกษตร ส่วนปริญญาโทต้องการเพิ่มรายได้มากกว่าดิจิทัลวอลเล็ต เช่นเดียวกับปริญญาเอก ต้องการลดปัญหาหนี้สิน ลดค่าน้ำค่าไฟ ส่วนกลุ่มอาชีพทุกคนเห็นเหมือนกันยกเว้นนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการเงินเดือนและลดค่าน้ำค่าไฟและดิจิทัลวอลเล็ต ถ้าดูระดับรายได้คนต้องการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ในกลุ่มของเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท และกลุ่มเด็กจบใหม่ต้องการเพิ่มรายได้ตนเองด้วย

“เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐบาลต้องทำ อยู่ทางสองแพร่ง ต้องการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน และมีเกือบ 40% อยากแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาระยะยาว ถ้าโครงสร้างดี การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้จะเห็นชัดเจนอยู่แล้ว รัฐบาลในการบริหารประเทศจึงต้องให้ความสำคัญกับทั้ง 2 เรื่อง”