เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีอดีตครูที่เคยสอนในโรงเรียนขนาดเล็กที่เลิกสถานศึกษาแล้วพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เรียกร้องให้เปิดสถานศึกษาดังกล่าว หรือคืนพื้นที่เพื่อให้หน่วยงาน ชุมชนเข้ามาพัฒนาใช้ประโยชน์ต่อไปนั้น ในประเด็นดังกล่าวตนได้มอบหมายศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ากลุ่มโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 1 (สพป.หนองบัวลำภู เขต 1) ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กเกิดลดลง การโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพสูงขึ้น ส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่มีจำนวนนักเรียนลดลง กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน) ณ ปัจจุบัน สพป.หนองบัวลำภู เขต 1 มีโรงเรียนในสังกัด 198 โรงเรียน แต่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มากถึง 128 โรงเรียน ทั้งนี้ ได้มีความพยายามพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กมาโดยตลอด มีการใช้รูปแบบการบริหารจัดการที่หลากหลายเพื่อคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่น การจัดการเรียนแบบบูรณาการ จัดการเรียนการสอนแบบคละชั้น การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV/DLIT การนำระบบ ICT มาใช้เพื่อการบริหารและจัดการเรียนการสอน ฯลฯ

เสียดาย! ‘ไม่มีครู-ไร้นร.’ กลายเป็นโรงเรียนร้าง วอน รมว.ศธ.ทบทวน ก่อนลงพื้นที่ ครม.สัญจร

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา สพฐ. และเขตพื้นที่ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน เพื่อกำหนดแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น บางโรงเรียน นักเรียนน้อยและมีครูไม่ครบชั้น ก็ได้นำนักเรียนมาเรียนร่วมกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) ซึ่งเป็นโรงเรียนหลักที่มีความพร้อม หรือ บางแห่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันก็ให้จัดการเรียนการสอนร่วมกัน ส่งผลให้นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนที่พร้อมและมีคุณภาพ ผู้ปกครองและชุมชนให้การยอมรับ และเห็นด้วยกับการควบรวมการเรียนการสอน รวมถึงการเลิกโรงเรียนเดิม โดยโรงเรียนที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์ ได้แก่ โรงเรียนบ้านฝายหิน เป็นสถานศึกษาที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดหนองบัวลำภู (กศจ.) เห็นชอบให้เลิกสถานศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2562 เพื่อประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษา และโรงเรียนหินตลาดศรีสง่าวิทยา สาขาศรีภูทอง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ผู้ปกครอง ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการบริหารจัดการโรงเรียน


“การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนคุณภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กไทยทุกคน ในกรณีโรงเรียนที่ถูกเลิกสถานศึกษา หลายโรงได้ส่งมอบทรัพย์สิน อาคาร สถานที่ให้กับโรงเรียนหลักเรียบร้อยแล้ว บางโรงอยู่ระหว่างกระบวนการขอคืนที่ราชพัสดุหรือการรื้อถอนอาคารต่างๆ ซึ่งตนได้กำชับให้มีการติดตามความคืบหน้าของกระบวนการและตรวจตราความเรียบร้อยปลอดภัยของอาคารสถานที่อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สพฐ. และเขตพื้นที่พร้อมเปิดโอกาสและยินดี หากหน่วยงานใดต้องการใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรมหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ ขอขอบคุณชุมชนที่แสดงความห่วงใยและร่วมดูแลพื้นที่โรงเรียน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการและถือเป็นสมบัติของทางชุมชนด้วยเช่นกัน” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว