เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยภายหลังงานวันคล้ายวันก่อตั้ง กทพ. ครบรอบ 51 ปี ซึ่งมีนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เป็นประธานว่า ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 52 กทพ. จะเดินหน้าตามคำจำกัดความที่ว่า “ก้าวย่างอย่างมั่นใจ นำเส้นทางใหม่สู่ภูมิภาค” โดยจะพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ทางพิเศษ(ด่วน) เป็นทางเลือกในการเดินทางที่คุ้มค่า ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และจะไม่จำกัดอยู่แค่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น กทพ. จะพัฒนาทางด่วนในต่างจังหวัดด้วย อาทิ ภูเก็ต, สมุย, ตราด, เชียงใหม่ และขอนแก่น ทั้งนี้ตลอด 51 ปีที่ผ่านมา กทพ. มีโครงข่ายทางด่วนให้บริการประชาชนแล้ว 8 สายทาง 224.6 กิโลเมตร(กม.) และภายใน 10 ปีหลังจากนี้ หรือภายในปี 75 กทพ. จะเปิดทางด่วนสายใหม่ให้บริการได้อีก 12 สายทาง ประมาณ 254.4 กม.

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการทางด่วนสายใหม่ 12 สายทาง วงเงินรวมประมาณ 4.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท, 2.โครงการทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนฯ รอบที่ 3) ระยะทาง 19.25 กม. วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท, 3.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯด้านตะวันออก) ระยะทาง11.3 กม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท และระยะที่ 2 (ส่วนทดแทนตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ระยะทาง 6.7 กม. วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท, 4. โครงการทางด่วน จ. ภูเก็ต ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงกะทู้– ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท,

5. โครงการทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) ระยะทาง 20.09 กม. วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท, 6.โครงการทางด่วน จ. ภูเก็ต เฟสที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ ระยะทาง 30.62 กม. วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท, 7.โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 ด้านทิศใต้ ระยะทาง 71.60 กม. วงเงิน 1 แสนล้านบาท, 8.โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 25 กม. วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท, 9.โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด ระยะทาง 6 กม. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท, 10.โครงการทางด่วน สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กม. วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท, 11.โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์(S1) ระยะทาง 2.25 กม. วงเงิน 4.4 พันล้านบาท และ 12. โครงการทางด่วน สายอุดรรัถยา-ปทุมธานี ระยะทาง 20.50 กม. วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เริ่มก่อสร้างแล้ว 1 เส้นทาง ได้แก่ โครงการทางด่วน สายพระราม 3-วงแหวนรอบนอกฯ โดยในปี 67 จะเปิดประกวดราคา 4 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนฯ รอบที่ 3) วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท เปิดจำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชน ปลายเดือน ธ.ค.66 ประมูลต้นปี 67 ได้ผู้ชนะประมูลกลางปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดปี 70, 2.โครงการทางด่วน จ. ภูเก็ต ช่วงกะทู้– ป่าตอง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาปรับรูปแบบการลงทุนจากเดิมเอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ(PPP) เป็น กทพ. ลงทุนเอง โดยจะเริ่มก่อสร้างปี 67 เปิดปลายปี 71,

3.โครงการ Double Deck วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นผลศึกษาระบุ ไม่คุ้มค่าการลงทุน จึงอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานบริหารจัดการทางด่วนศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ในแนวเส้นทางที่ต้องถูกซ้อนทับ แนวโน้มจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน แลกกับการขยายสัมปทานฯ ซึ่งสัมปทานเดิมมีระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน หรือหมดอายุประมาณปี 78 โดยระยะเวลาการขยายสัมปทานจะพิจารณาจากตัวเลขคาดการณ์รายได้ว่าใน 1 ปี จะได้รายเท่าใด และนำมาแลกกับวงเงินลงทุนโครงการ ทั้งนี้จะเร่งให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด กทพ. มั่นใจว่าสามารถตอบคำถามประชาชน และสังคมได้ว่า เหตุใดต้องขยายสัมปทานให้เอกชน  

และ 4.โครงการ N2 วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ได้เสนอกระทรวงคมนาคม และรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว มีการปรับปรุงเล็กน้อย รอเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) กทพ. ชุดใหม่พิจารณา คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้กลางปี 67 อย่างไรก็ตาม กทพ. อยากให้โครงการได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพราะช่วยแก้ปัญหาจราจร และช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น หาก กทพ. ผลักดันโครงการนี้ไม่สำเร็จ ก็จะยกเลิกโครงการฯ และเสนอคืนพื้นที่ให้กับประชาชน เพราะเวนคืนพื้นที่จากประชาชนมา 25 ปี และตอม่อกลางถนนก็ปล่อยทิ้งร้างมานานแล้ว.