นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน​ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดูแลค่าไฟฟ้างวดใหม่ ม.ค.- เม.ย. 67 ว่า  เตรียมเสนอที่ประชุมครม. ของบกลางประมาณ 2,000 ล้านบาท ดูแลค่าไฟ ในงวดแรกปี 67​ หรือตั้งแต่ม.ค.-เม.ย. โดยจะตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 300 หน่วย ต่อเดือน จำนวน 17.7 ล้านราย คิดเป็น 75% ของครัวเรือนผู้ใช้ไฟทั้งหมด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น และเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน​

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน ขณะนี้กำลังพยายามหาแนวทางหลากหลายรูปแบบในการดำเนินการ เพื่อทำให้ค่าไฟต่ำกว่า 4.68 บาทตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศล่าสุด ซึ่งต้องยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้แบบที่ใจคิด เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยการที่จะให้ค่าไฟลดลง 10 สตางค์ จะต้องมีค่าใช้จ่าย หรือผู้ที่ต้องแบกรับภาระเป็นพันล้าน หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ตนได้เร่งให้ทุกหน่วยงานหาทุกมาตรการเพื่อลดค่าไฟฟ้าให้ได้ ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดประชุมสั่งการ เบื้องต้นค่าไฟฟ้าที่ลดได้จะเกิดจาก 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

1. การขยายหนี้ กฟผ. ออกไปอีก 1 งวด

2. การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ  

3. การกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท.

แม้ว่า การดำเนินการทั้ง 3 มาตรการ จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงจากที่ทางกกพ. เสนอ แต่ทุกฝ่ายยังจะพยายามหาช่องทางให้สามารถลดค่าไฟให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟสำหรับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด

“ใจผมอยากได้ 3.99 บาทต่อหน่วย ทุกกลุ่ม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทำได้ยาก เพราะราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟมีการปรับขึ้นราคาในช่วงฤดูหนาว แต่จะพยายามทำให้ต่ำที่สุด”

ส่วนประเด็นที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ต้องการให้ค่าไฟงวดใหม่อยู่ที่ราคา 4.10 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 4.20 บาทต่อหน่วยตามที่กระทรวงพลังงานเคยระบุว่าจะดำเนินการก่อนหน้านี้นั้น ในความเห็นส่วนตัวต้องการให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยมากกว่า

“การจะปรับลดค่าไฟไม่ใช่อยู่ที่การพูดว่าต้องการเท่าไร แต่อยู่ที่หลายภาคส่วนประกอบกัน เช่น ผู้ประกอบการจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันไม่ใช่มีแค่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชนด้วย ซึ่งบางรายเพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิด-19 หากเอกชนที่เป็นรายเล็กบางรายอยู่ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้มีไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งคงวุ่นวายไปมากกว่านี้ ดังนั้น ต้องคิดอย่างรอบคอบให้เกิดความเป็นไปได้ของทุกส่วน ต้องแก้ปัญหาให้เป็นวงกลม”

นอกจากนี้การที่จะดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ใช้ไฟเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ พิจารณาเห็นชอบด้วยในบางประเด็น เช่น โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือแน่นอนว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เพราะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับกฟผ. ที่อาจจะต้องแบกรับภาระเพื่อประชาชนอีก ซึ่งจะใช้โอกาสดังกล่าวนี้ในการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบเลยหรือไม่นั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อไม่ให้ปัญหาทางด้านพลังงานจะต้องเกิดขึ้นทุก 3-4 เดือนที่จะมีการประกาศค่าไฟงวดใหม่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมขอมูลเกี่ยวกับปัญหา เพื่อนำมาแก้ไข

“ตอนนี้คงต้องทำตามโครงสร้างเดิมก่อน เพราะเป็นแบบนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว แต่พยายามหาทางทุกมิติว่า จะปรับโครงสร้างพลังงานอย่างไร เพื่อให้ราคาลดลงได้ด้วยตัวเอง และไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน หรือเรียกว่าปลดแอกจากราคาที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเป็นปัจจัยหลักสำคัญ”