อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาที่ดีเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ความสามารถให้เด็กและเยาวชนของชาติก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ ดังนั้นจังหวะก้าวในการศึกษาจึงเป็นโอกาสสำคัญที่เด็กหลายคนตักตวงไขว่คว้าหาความรู้กันเต็มที่เพื่อแสดงศักยภาพในตัวเองออกมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและส่วนรวม

ดังเช่น นายกฤตัชญ์ กรรณิกา หรือ น้องมิว นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาด้วยวัย 19 ปี ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ลูกชายของ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลและนักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ชื่อดัง เปิดความในใจต่อสายสัมพันธ์นักเรียนไทยในต่างแดนที่ครั้งหนึ่งตนเองรู้สึกต่างคนต่างอยู่โดดเดี่ยวแบบ Bowling Alone เลยในประเทศอันกว้างใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและสะท้อนให้เห็นระบบการศึกษาที่แตกต่างไปจากระบบการศึกษาของประเทศไทยว่าการศึกษาไทยที่เคยประกาศปฏิรูปมาร่วม 30 ปีแล้วควรเปลี่ยนแปลงให้ทันโลกยุคดิจิทัลและก้าวล้ำไปข้างหน้าแต่ไม่ลืมความเป็นคนไทยควบคู่กับสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้เรียนรู้ในโลกใบใหญ่นี้

น้องมิว เกิดที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา สมัยที่คุณพ่อ (ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา) เรียนที่นั่นและชีวิตแห่งการเรียนก็ไปกลับไทย-อเมริกา ตอนมาไทยก็เรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ไปเรียนไฮสกูลที่ Walter Johnson รัฐแมริแลนด์ เรียกว่าเกาะติดตามคุณพ่อไปทุกที่ที่คุณพ่อไปเรียน ปัจจุบันน้องมิวกำลังเรียนที่คณะบริหารธุรกิจ สนใจการเงินการบัญชีและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์ชวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ชั้นปีสอง ตอนจบปีหนึ่งได้มีโอกาสฝึกงานด้านการเงินการบัญชี ช่วงปิดภาคฤดูร้อนที่บริษัท RSM ประเทศไทยในส่วนหนึ่งของ RSM International บริษัทอันดับห้าของสหรัฐอเมริกาและอันดับหกของโลกมีความเชี่ยวชาญด้านบริการตรวจสอบบัญชี ภาษีและที่ปรึกษา มีความมุ่งมั่นเข้าใจความต้องการลูกค้า รักษาคุณภาพและช่วยผลักดันให้ลูกค้าประสบความสำเร็จ ด้วยค่านิยมหลักคือ ความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นหุ้นส่วนกัน และความเป็นเลิศ

น้องมิว ด้วยวัยเพียง 19 ปี บอกว่า แม้ผมได้สัญชาติอเมริกันและได้โอกาสเรียนกับนักศึกษานานาชาติในสหรัฐอเมริกา แต่เราไม่เคยลืมความเป็นคนไทย เราสำนึกรู้คุณชาติกำเนิดของเราที่เป็นคนไทย เรามีโอกาสร่วมงานวันชาติของราชอาณาจักรไทย และวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ได้มีโอกาสถ่ายภาพกับเพื่อนสนิทนักเรียนไทยและท่านเอกอัครราชทูต นายธานี แสงรัตน์ ผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารีดูแลพวกเราเสมือนเป็นลูกหลานอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ในงานนั้นได้มีโอกาสพบปะกับ พันเอก มาร์ค มิลลิแกน (Col. Marc Milligan) และรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และท่านผู้ใหญ่ใจดีอื่น ๆ อีกด้วย

น้องมิวยังเล่าให้ฟังต่อว่า วันนี้ดีใจมากที่พี่ๆ และเพื่อน ๆ รวมถึงผู้ใหญ่คนไทยให้ความไว้วางใจผมให้ผมได้ตำแหน่ง เหรัญญิกหรือตำแหน่งนี้ภาษาอังกฤษคือ Treasurer ของสมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา หรือ Association of Thai Students in the United States of America, ATSA  ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ที่น้องมิวต้องหลอมรวม สติ สมาธิและปัญญาให้เป็นตัวเดียวกันในการจัดการระบบการบัญชีและภาษีด้วยความซื่อตรงและรักษาผลประโยชน์ของสมาคมและของสมาชิกทุกคนด้วยการจัดการข้อมูลทางการเงิน บัญชีและทักษะทางเทคโนโลยีที่ต้องมีความปลอดภัยของข้อมูล (Information Security) ตามความสนใจของน้องมิวเรื่อง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย

สมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกานี้เป็นองค์กรที่มีคณะบริหารองค์กรและบอร์ดอำนวยการเชื่อมประสานและทำกิจกรรมร่วมกันของนักศึกษาไทยเปิดกว้างทุกมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีภารกิจสำคัญหลายอย่าง เช่น มุ่งเน้นการสร้างชุมชน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการสนับสนุนทางการศึกษา โดยภารกิจของเราคือการสร้างเครือข่ายสนับสนุนสำหรับนักศึกษาไทย เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ทางวัฒนธรรมและการพัฒนาทั้งทางส่วนบุคคลและวิชาชีพผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ และส่วนตัวของผมคือไม่ลืมความเป็นคนไทย สำนึกรักบ้านเกิดเมืองนอน และเชื่อว่า นักศึกษาไทยทุกคนก็คิดแบบนี้เช่นกัน

สำหรับบทบาทของน้องมิวในฐานะเหรัญญิกของ ATSA คือจัดการด้านการเงินขององค์กรด้วยความโปร่งใสและปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หน้าที่ของผมรวมถึงการจัดทำงบประมาณ การวางแผนทางการเงินและแหล่งทุนเพื่อรักษากิจกรรมในภารกิจบทบาทของเราเชื่อมสายสัมพันธ์นักเรียนไทยในต่างแดนให้ยั่งยืน

“หลังจบการศึกษา ผมมีเป้าหมายจะได้รับโอกาสร่วมงานในฐานะส่วนหนึ่งของการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยและขององค์กรบนความเชี่ยวชาญผสมผสานระหว่างการเงินการบัญชีและเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างเต็มที่” น้องมิวเล่าถึงเป้าหมายหลังจบการศึกษา

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากใครที่เล็งเห็นความสำคัญของอนาคตชาติ อนาคตนักเรียนไทยที่จะกลับมาทำคุณประโยชน์ให้ส่วนรวมได้อีกมากแล้ว ….ก็คงไม่รอช้าแล้ว.