เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดที่ 22 (กรรมการไตรภาคี) ที่มีมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 2-16 บาท ว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้เราจะต้องหารือกันในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ก่อนว่าจะมีการทบทวนหรือไม่ ทั้งนี้ การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดนั้นจะมีสูตรของการคำนวณอยู่ โดยจุดเริ่มต้น มาจากอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด เสนอมายังคณะกรรมการวิชาการกลั่นกรองก่อนจะมาสรุปตัวเลขสุดท้ายในคณะกรรมการไตรภาคี อย่างไรก็ตาม จากกรณีข้อท้วงติง ตนได้มีการปรึกษาหารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ว่าจะนำเสนอมติคณะกรรมการไตรภาคีเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 ธ.ค.นี้หรือไม่ รวมถึงจะมีการหารือนอกรอบกับคณะกรรมการไตรภาคี ว่าจะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ท่านนายกฯ มีสิทธิที่จะวิจารณ์และออกความเห็น ซึ่งผู้ใช้แรงงานเองก็คงไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศออกไป เพราะคาดหวังตามสิ่งที่พรรคการเมืองได้หาเสียงเอาไว้  แต่จะปรับให้ถึงวันละ 400 บาทในตอนนี้ ทำได้หรือไม่ ก็ต้องดูเหตุผล ว่าโละมติได้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่บัญญัติไว้ว่า “คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาค่าจ้างโดยอิสระ” ซึ่งควรปราศจากการครอบงำหรือแทรกแซงจากภาคส่วนอื่น ถ้าหากทำได้ ต้องถามต่อว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ทบทวน เมื่อกรรมการมีมติ รมว.ก็ลงนามเสนอครม.

“หากเข้า ครม. แล้วไม่ผ่าน ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งต้องตอบคำถามว่า การที่ ครม. ให้นำกลับมาทบทวนใหม่นั้น ครม. มีอำนาจในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งผมคงตอบไม่ได้ ต้องไปถามฝ่ายกฎหมายว่าทำได้มากน้อยอย่างไร” นายวีรสุขกล่าว

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการแต่ละฝ่ายมีคุณธรรม จริยธรรมพอที่จะรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอดของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ก็ต้องเจอกันครึ่งทาง แต่ 400 บาทต่อวันนั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอน ต้องย้ำว่าคำว่า ค่าแรงขั้นต่ำเป็นค่าแรงแรกเข้าของแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งเรายังมีค่าจ้างมาตรฐานตามฝีมือแรงงานอีกเป็นร้อยสาขาอาชีพ สิ่งสำคัญที่อยากสื่อสารให้สังคมรับรู้คือ ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่นั้น จะมีแรงงานไทยเฉลี่ยที่ 5 แสนคน แต่อีก 5 ล้านกว่าคนเป็นแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายที่จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ ขณะที่มูลค่าสินค้าต่างๆ ก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น แล้วคนไทยกว่า 70 ล้านคนจะต้องมารับภาระตรงนี้

“ทางที่ดีหากนายกฯ จะพูดเรื่องค่าแรง ควรจะเอาเวลาไปคิดว่าจะอย่างไรให้ราคาสินค้า ให้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าครองชีพลดลง เพื่อให้ประชากรที่มีรายได้เท่านี้อยู่ได้ และผู้ประกอบการก็สามารถดำรงกิจการต่อไป” นายวีรสุขกล่าว

ขณะที่ นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาทักท้วงเรื่องนี้ เพราะผลการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ของคณะกรรมการไตรภาคีไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันนี้รัฐบาลพยายามซัพพอร์ตกลุ่มนายทุนในทุกๆ ด้าน แต่ขณะเดียวกันกลับกดค่าจ้างของลูกจ้าง เลยทำให้เกิดความไม่สมดุล ไม่ยุติธรรมกับลูกจ้าง ซึ่งควรจะได้ค่าแรงสูงกว่านี้ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นทุกๆ พื้นที่ ทั้งนี้การที่นายกฯ ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ไม่ถือเป็นการแทรกแซง เพราะขนาดกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สำรวจและพิจารณาตัวเลขก่อนเสนอเข้ามา ถามว่ามีสัดส่วนของลูกจ้าง เข้าร่วมอยู่มากน้อยแค่ไหน

นายชาลี กล่าวต่อว่า สำหรับตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่คิดว่าควรจะเป็นนั้น คิดว่าควรทำตามที่รัฐบาลพูดเอาไว้ก็ได้คือ 400 บาททั้งประเทศ ซึ่งพอกล้อมแกล้มไปได้ ดีกว่าเพิ่มเพียง 12 บาท ซึ่งการเพิ่มเป็น 400 บาทนี้ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดด ในอดีตเราก็มีประสบการณ์ จากการที่ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดดีขึ้นได้เพราะเกิดการจ้างงานมีรายได้ ตัวเลข GDP ภายในจังหวัดดีขึ้น แต่ตอนนี้ GDP ระดับจังหวัดดีแค่ในจังหวัดที่เป็นจังหวัดอุตสาหกรรมเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะให้ดีก็ควรกำหนดให้มีค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ นี่เป็นหลักการ ถ้ารัฐบาลคิดอย่างนี้ได้ ก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ.