เปิดฉากการศึกษาไทยในรอบปี 2566 เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ได้มีการจัดเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร์เกิดขึ้น เปลี่ยนผ่านกลางปีของอำนาจจาก “ผู้นำรัฐประหาร” สู่นายกรัฐมนตรีพลเรือน โดย “กระทรวงศึกษาธิการ” ได้เจ้าของรหัส “เสมา1” คนใหม่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ คว้าเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมี“เสมา2” นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ส.ส.อยุธยา4สมัย ซุ้มบ้านใหญ่วังน้อย บารมีเบ่งบานจากพรรค “ภูมิใจไทย” นั่งทำงานเคียงข้าง 

โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เดินทางเข้ากระทรวงศึกษาธิการ วันแรกเมื่อเดือนกันยายน พร้อมประกาศนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ด้วยการลดภาระครู และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง กับแนวคิด “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต”

สำหรับนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา 4 ด้าน คือ 1.ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ด้วยการปรับระบบการประเมินวิทยฐานะที่เน้นตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร-ขั้นตอนการประเมิน ไม่ซับซ้อนและเป็นธรรม 2.ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น สามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง 3.แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการวางแผนการใช้เงิน รวมทั้งเร่งช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ NPL โดยเร่งด่วน และ4.จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต  

ส่วนนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองมี 6 ด้าน คือ 1.เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต 2. โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ 3.ระบบแนะแนวการเรียน  และเป้าหมายชีวิตด้วยการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก 4.จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ด้วยการนำหน่วยกิตที่สะสมมาใช้เทียบคุณวุฒิ 5.การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ และ 6.มีรายได้ระหว่างเรียนจบแล้วมีงานทำ

ซึ่งหลังจากประกาศนโยบายดังกล่าว “บิ๊กอุ้ม” สั่งหน่วยงานระดับปฎิบัติเดินหน้าทำทันที ด้วยการตั้งคณะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรมว.ศธ. เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ไปสู่เป้าหมาย จากนั้นต่อด้วยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา อีกจำนวน 5 ชุด คือ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” คณะอนุกรรมการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ คณะอนุกรรมการจัดทำระบบการวัดผล เทียบระดับการศึกษาประเมินผลการศึกษาและธนาคารเครดิตแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา

มาถึงจุดนี้นโยบายได้ถูกปูทางไว้แล้วไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเนื้อหาคอนเทนต์ใน 5 กลุ่มวิชาสาระการเรียนรู้หลักที่จะบรรจุไว้ในแท็บเล็ตอย่างทันสมัยตอบโจทย์ผู้เรียน ส่วนการแจกแท็บเล็ตจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2568   ซึ่งในประเด็นของการแจกแท็บเล็ตได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาข้อดีข้อเสียและความคุ้มค่าของการแจกอุปกรณ์ดังกล่าวว่าจะเป็นการแจกแท็บเล็ตหรือแล็บท็อบ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือการแจกอุปกรณ์เหล่านี้จะเริ่มนำร่องในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชน รวมถึงการลดภาระครูด้วยการเพิ่มทางเลือกการประเมินวิทยฐานะครูใหม่ให้เหมาะสมกับครูทุกกลุ่มและตามบริบทของโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการคิกออฟการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและหน้าที่พลเมืองโฉมใหม่ พร้อมทำสื่อการสอนตอบโจทย์ผู้เรียนทุกช่วงวัย และโรดโชว์ประวัติศาสตร์สัญจร 4 ภูมิภาค ขณะเดียวกันการสอบบรรจุข้าราชการครูจะต้องมีหัวข้อการประเมินด้านสำนึกรักความเป็นไทยและสถาบันชาติด้วย ส่วนร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ซึ่งเป็นกฎหมายการศึกษาที่สำคัญ ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้ได้ยึดร่างพ.ร.บ.ฉบับเดิมของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกามาใช้ เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์ควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตามทิศทางการศึกษาไทยในรอบปีที่ผ่านมาก่อนเปลี่ยนศักราชใหม่ในปี 2567 ยังเป็นสิ่งที่รอวันพิสูจน์ว่าเรื่องปฎิรูปการศึกษาจะเห็นผลสำเร็จได้จริงๆหรือไม่

ทีมข่าวการศึกษา