เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 90 (13) คณะกรรมาธิการการตำรวจมีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ การปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย การป้องกันและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

แต่การส่งตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ และการอนุญาตให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งอนุญาตตามความเห็นของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ และความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจผู้ทำการรักษา อันเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 ประกอบกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 2 (2) ซึ่งมิใช่กิจการของตำรวจ การกระทำของผู้บัญชาการเรือนจำ จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการการตำรวจ

ส่วนการที่คณะกรรมาธิการจะไปโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจสอบว่าอดีตนายกยังพักรักษาตัวอยู่หรือไม่นั้น เนื่องจากห้องพักรักษาตัวของผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยถือเป็นสถานที่คุมขัง ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 บุคคลอื่นจะเข้าไปในห้องพักซึ่งเป็นสถานที่คุมขังจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำ และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วย ดังนั้น หากต้องการตรวจสอบ คณะกรรมาธิการควรเชิญเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจมาสอบข้อเท็จจริงก็จะได้ผลเท่ากัน เพราะการนำคณะไปก็ไม่อาจเข้าไปในสถานที่พักรักษาตัวได้อยู่ดี แต่จะเป็นการรบกวนการทำงานของโรงพยาบาลและผู้ป่วยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนั้น การเรียกแพทย์จากกรมราชทัณฑ์และแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ มาสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขตามข้อบังคับข้อ 90 (33) ดังนั้นคณะกรรมาธิการการตำรวจ จึงไม่มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แต่อย่างใด

การตรวจสอบเป็นเรื่องดีและกระทำได้ แต่จะต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1)

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์

นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

27 ธันวาคม 2566