กรณี ด.ช.วัย 14 ปี ผู้ก่อเหตุยิงกระสุนปืนด้วยอาวุธแบลงค์กันกลางห้างสยามพารากอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย ได้รับการส่งตัวเข้ารับการประเมินสุขภาพจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แทนการคุมตัวไว้ที่สถานพินิจฯ เนื่องจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้มีการตรวจประเมินสุขภาพจิตของเด็กเบื้องต้น เห็นควรส่งตัวเข้ารับการรักษาและประเมินอาการทางจิตจากแพทย์เฉพาะทาง จิตเวชเด็กและวัยรุ่น กระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ได้ส่งคืนสำนวนให้กับพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เนื่องจากขั้นตอนการสอบสวนแจ้งข้อหาโดยไม่ชอบ เป็นการทำก่อนแพทย์ตรวจประเมินผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กโดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตามที่ได้นำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

อายัดตัว! ตร.สอบเด็ก14กราดยิงพารากอนต่อ เผยเด็กตอบได้หมด เว้นเกี่ยวกับคดีอ้างจำไม่ได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และในฐานะโฆษกกรมพินิจฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ถึงประเด็นวันที่ 31 ธ.ค.นี้ จะครบกำหนดการผัดฟ้องเด็กซึ่งอยู่ในการตรวจรักษาของแพทย์สถาบันกัลยาณ์จะต้องถูกนำตัวส่งกลับให้สถานพินิจ เพราะหน่วยงานไม่มีอำนาจคุมตัว ว่า สำหรับการส่งสำนวนของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ต่อพนักงานอัยการนั้น ยังขาดประเด็นสำคัญในเรื่องของอาการป่วยของเด็ก พนักงานอัยการจึงได้ส่งกลับสำนวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งระหว่างจะถึงวันที่ 31 ธ.ค. พนักงานสอบสวนจะต้องประสานกับทางสถานพยาบาลเพื่อนำเอาข้อมูลรายงานการวินิจฉัยหรือความเห็นของแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษา ประกอบเข้าสำนวนก่อนสั่งฟ้องต่ออัยการเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งสมมุติว่าหากรายงานความเห็นของแพทย์มีการระบุว่า เด็กยังไม่มีความสามารถในการต่อสู้คดี หรือยังไม่มีข้อยุติ

เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ระบุว่าเด็กยังไม่มีความสามารถในการต่อสู้คดี ความหมาย คือ เด็กยังไม่พร้อมให้การในชั้นศาล หรือเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งถ้าความเห็นของแพทย์เป็นลักษณะนี้ พนักงานสอบสวนก็จะต้องระงับการฟ้องไว้ก่อนจนกว่าเด็กจะเข้าสู่ภาวะปกติและพร้อมให้การ ซึ่งจะมีผลให้หลังจากนี้ทางสถาบันกัลยาณ์ก็จะต้องรับตัวเด็กเพื่อทำการรักษาต่อไป แต่ถ้าแพทย์มีความเห็นว่าเด็กควรเข้ารับการรักษาปกติ โดยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล หรือสั่งให้ทานยาตามที่กำหนด ก็จะมีการส่งตัวกลับสถานพินิจในวันดังกล่าว และทำการรักษาตามที่แพทย์สั่ง คล้ายผู้ป่วยนอก อย่างไรก็ตาม กระบวนการในวันที่ 31 ธ.ค. จะต้องยึดความเห็นของแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาเป็นสำคัญ ส่วนถ้าในวันที่ 31 ธ.ค. (ครบกำหนดผัดฟ้อง) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะหมดอำนาจในการคุมตัว ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะสั่งให้ปล่อยตัวเด็กชั่วคราว แล้วถ้าแพทย์มีความเห็นว่าให้ผู้ปกครองสามารถรับตัวบุตรกลับไปดูแลเองได้ ผู้ปกครองก็สามารถดำเนินการตามนั้นได้ แต่ถ้าผู้ปกครองยืนยันว่าไม่พร้อมรับตัวกลับไป เด็กก็จะกลับไปอยู่ในสถานะผู้ป่วยใน หรือถ้าแพทย์เห็นว่าเด็กควรได้รับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ต่อเนื่อง ก็จะชี้แจงความจำเป็นต่อผู้ปกครอง เด็กก็จะต้องอยู่ในการรักษาของสถานพยาบาลเหมือนเดิม

โฆษกกรมพินิจ กล่าวอีกว่า ในมุมมองของตน เล็งเห็นว่าที่ผ่านมา เด็กยังคงอยู่ในการประเมินสุขภาพจิตจากแพทย์ของสถาบันกัลยาณ์ จึงมีแนวโน้มว่าในวันที่ 31 ธ.ค. เด็กก็อาจจะยังอยู่ในความดูแลของแพทย์ต่อไป เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเด็กและสังคมเอง นอกจากนี้ ทางกรมพินิจฯ ยังไม่ได้รับแจ้งจากสถาบันกัลยาณ์ถึงผลวินิจฉัยและการรักษาต่าง ๆ เพราะจะมีเพียงพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีเท่านั้นที่สามารถร้องขอเอกสารทางการแพทย์ได้ ทราบเพียงว่าที่ผ่านมาพนักงานคุมประพฤติของกรมพินิจฯ ได้รับการประสานจากสถาบันกัลยาณ์ว่ายังไม่มีผลการวินิจฉัยออกมา ทางกรมพินิจฯ จึงได้รายงานข้อมูลไปยังพนักงานสอบสวนเท่าที่ได้รับมา ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าในวันที่ 31 ธ.ค. กรมพินิจฯ มีบทบาทเพียงรอฟังความเห็นและการวินิจฉัยของแพทย์เท่านั้น เพราะหน่วยงานที่จะมีบทบาทต่อตัวเด็กจริงๆ คือ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน เพราะจะต้องดำเนินการส่งฟ้องอัยการให้ทัน ส่วนถ้าในกรณีที่พนักงานสอบสวนส่งฟ้องอัยการไม่ทัน แพทย์ก็อาจจะมีความเห็นว่าเด็กอาจยังไม่พร้อมในเรื่องของการต่อสู้คดี จึงขอให้ระงับสำนวนไว้ก่อนจนกว่าเด็กจะมีความพร้อม

โฆษกกรมพินิจฯ ยังกล่าวย้อนความให้ว่า เมื่อครั้งที่ ด.ช. เข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ 2 วันแรกหลังเกิดเหตุ ด.ช. ได้เจอนักจิตวิทยาทั้งสองวัน แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังประเมินไม่ได้ เพราะเด็กไม่ให้ความร่วมมือใดๆ อยู่ระหว่างการสับสน ไม่พูดจา ไม่แสดงอาการ และนิ่งเฉย ท้ายสุดเราเลยมองว่าคงต้องขอให้ศาลเป็นผู้สั่งให้ไปทำการรักษาและประเมินสุขภาพจิตที่สถาบันกัลยาณ์แทน อีกทั้งที่ผ่านมาตนยังไม่เคยพบเจอกรณีที่เด็กกระทำผิดอยู่ระหว่างการประเมินสุขภาพจิตในสถานพยาบาลยาวนานเช่นนี้มาก่อน เคส ด.ช. 14 ถือเป็นเคสแรก แต่ตนก็เข้าใจในหลักปฏิบัติ การตรวจรักษาผู้ป่วยของแพทย์.