ซึ่งตอนนี้ธรรมชาติกำลัง “ทวงคืน” ถ้าเราไม่ร่วมกัน “ทำ” เราจะส่งต่อโลกแบบไหนให้กับลูกหลาน สุดท้ายอาจกลายเป็น “จุดจบของโลก” แบบที่เห็นในหนัง เดอะ เดย์ อาฟเตอร์ ทูมอร์โรว เป็นข้อความส่วนหนึ่งที่น่าสนใจในหนังสือ SUSTAIN or DIE หรือต้องรอให้โลกแย่ไปกว่านี้? เขียนโดย ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เปิดศักราชใหม่ปี 67 ปีมังกรทองพ่นไฟ คอลัมน์ Sustainable Talk ขอหยิบยกข้อความที่น่าสนใจดังกล่าวขึ้นมา เพื่ออยากให้ทุกคนมารวมพลังคนละเล็กคนละน้อยตามความรับผิดชอบของแต่ละคนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ลดการกระทำที่ทำลายธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เพื่อมาสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ให้กับโลกของเรา ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป

เพราะทุกคนคงได้เห็นเหตุการณ์ภัยธรรมชาติต่าง ๆ แปลก ๆ สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ทั้งไฟป่าที่รุนแรงเป็นวงกว้าง หิมะตกหนักและผิดฤดู หน้าฝนที่ยาวนานกว่าปกติจนเกิดมหันตภัยนํ้าท่วม หลาย ๆ พื้นที่เกิดพายุเฮอริเคน ทั้งหมดนี้ได้สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สิน คร่าชีวิตผู้คน ทำลายเศรษฐกิจ ผู้คนอยู่ยากลำบากกันมากขึ้น และอีกสารพัดปัญหาที่ต้องเจอ

แม้สถานการณ์จะเริ่มบานปลายในหลาย ๆ พื้นที่ แต่ก็ยังไม่สายเกินแก้ ที่จะร่วมกันลงมือทำ เริ่มจากตัวเรา มองความยั่งยืนให้เป็นธุระของเราทุกคน ตื่นเช้ามาให้พูดกับตัวเองในทุก ๆ เช้า วันนี้ฉันตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง บ้าน ออฟฟิศที่ชั้นอยู่ให้ดีขึ้น เป็นการปลุกพลังในทุก ๆ เช้า เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะทำอะไร เราจะเริ่มระมัดระวังมากขึ้น เช่น ก่อนไปซื้ออะไร ลองคิดสักนิดก่อนซื้อดูว่า สิ่งของที่เราซื้อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เลิกใช้แล้วจะไปจบที่ไหน กลับคืนสู่ธรรมชาติ หรือรีไซเคิลได้หรือไม่

มองการยืดอายุการใช้งานของสิ่งของได้ให้ใช้ได้นานที่สุด เพื่อให้สิ่งของต่าง ๆ นั้น เป็นการใช้ทรัพยากรที่ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น ทำกระเป๋าผ้าจากเสื้อตัวเก่า ลดการใช้พลาสติกและโฟมให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเกิดขึ้นเยอะมากตั้งแต่ช่วงยุคโควิด ถ้าให้ดีควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซํ้าได้โดยไม่ต้องทิ้งเพื่อลดขยะ ลดการสร้างมลพิษ และปล่อยไมโครพลาสติกสู่แหล่งดิน แหล่งนํ้า

ถ้าให้ดีควรใช้เสื้อผ้าที่ใส่ได้หลายครั้ง เพราะเสื้อยืดหนึ่งตัว ต้องใช้กระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 4 กิโลกรัม
ไม่ควรใช้เสื้อผ้าแบบ ฟาส แฟชั่น หรือใส่เสื้อผ้าตามกระแสแค่ไม่กี่ครั้ง ทำให้เกิดขยะแฟชั่นมหาศาล ลองเปลี่ยนมาสนับสนุน สโลว์ แฟชั่น เน้นเลือกเสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ใส่เสื้อผ้าให้คุ้มค่าที่สุด และถ้าเป็นไปได้ควรลดใช้รถส่วนตัว หันมาใช้รถสาธารณะ หรือทำธุระใกล้บ้านให้ขี่จักรยาน หรือเดินออกกำลังกายแทน รวมทั้งให้ลดการกินเนื้อน้อยลง กินผักมากขึ้น เพราะแต่ละปีอุตสาหกรรมปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก วันว่างเปลี่ยนกิจกรรมวันหยุดเป็นกิจกรรมจิตอาสา เป็นผู้ให้ เช่น เก็บขยะตามชายหาด สอนผู้ด้อยโอกาสทำอาชีพ

ต่อมา เริ่มที่บ้าน ลดการใช้ทั้งนํ้า ไฟฟ้า ใช้ให้ระมัดระวังมากขึ้น อะไรที่ไม่ใช้ก็ให้ปิด ช่วยทั้งโลก และลดค่าใช้จ่ายของเราเอง รวมทั้งควรลดการผลิตขยะ ใช้ถุงผ้าเวลาไปจ่ายตลาด ใช้กล่องข้าวใส่อาหาร ใช้พลังงานทดแทน เลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับบ้าน เช่น ไฟหน้าบ้าน ไฟที่จอดรถ และควรปลูกฝังความยั่งยืนในครอบครัว ส่วนที่ทำงาน ใช้นโยบาย 3R คือ Reduce ลดปริมาณขยะที่สร้างขึ้น การใช้กระดาษเอกสาร Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ ค้นหาวิธีใหม่ ๆ ในการใช้สิ่งต่าง ๆ แทนการถูกโยนทิ้ง Recycle การเปลี่ยนสิ่งที่เก่าและไร้ประโยชน์ ให้เป็นสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์ เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ Carbon Footprint เพราะเป็นการบ่งบอกใน ทุกกระบวนการผลิตไปจนถึงการเสื่อมสภาพปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งหมดนี้ถือเป็นตัวอย่างที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถเริ่มทำได้ทันที เพื่อพวกเราทุกคน.