เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ห้องประชุม กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) ถนนผ่านฟ้า กรุงเทพฯ พ.ต.ท.มโรดม์ ขวัญเมือง รอง ผกก.ดส.บช.น. พร้อมด้วย นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกันแถลงสถิติเด็กหาย ประจำปี 2566 โดยมีการเชิญแม่ของ “น้องการ์ตูน” วัย 6 ขวบ ที่ถูกนายหนุ่ย หรือติ๊งต่าง ฆาตกรต่อเนื่อง 3 ศพ ลักพาตัวไปฆ่าข่มขืน บริเวณป่ารกร้างติดสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง บางนา เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ (6 ธ.ค. 2556) ซึ่งเป็นการมาเปิดใจครั้งแรกในรอบ 10 ปี

โดย นายเอกลักษณ์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งเด็กหายของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2566 ทั้งสิ้น 296 ราย ซึ่งถือว่าสถิติเด็กหายเพิ่มเติมสูงขึ้นในรอบ 5 ปี โดยสูงกว่าปี 2565 ถึง 17% โดยสาเหตุหลักกว่า 58% หรือ 172 ราย คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่า 19% หรือ 56 ราย และมีเด็กถูกลักพาตัว 5 ราย ในปีที่ผ่านมา

ช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้าน มากที่สุดคือช่วง อายุ 11-15 ปี รวม 138 ราย รองลงมาคืออายุ 16-18 ปี รวม 96 ราย และช่วงแรกเกิดถึงสิบขวบ รวม 62 ราย โดยกลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-15 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงในการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เด็กไปให้ความไว้วางใจเพื่อน หรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์ มากกว่าคนในครอบครัว จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้โดยง่าย

โดยจากข้อมูล เด็กยอมไปกับคนที่เพิ่งรู้จักหรือพูดคุยกันผ่านแอปพลิเคชัน อย่าง facebook instagram tiktok หรือแอปพลิเคชันหาคู่ แม้ว่าเด็กจะสมัครใจหนีออกจากบ้านเอง แต่โลกภายนอกบ้าน มีอันตรายหลายอย่างสำหรับเด็ก ทั้งการคุกคามหรือหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก หรือมีความเสี่ยงในการถูกล่อลวง หรือกระทำความรุนแรง โดยปีที่ผ่านมา มีเด็กวัยรุ่นหายออกจากบ้าน ภายหลังพบถูกฆาตกรรม

พ.ต.ท.มโรดม์ รอง ผกก.ดส. กล่าวว่า เด็กหาย นับว่าเป็นปัญหาสำคัญของสังคม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก โดยในประเทศไทย แม้ว่า เด็กหายส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้านก็ตาม แต่ท้ายสุดแล้ว เมื่อมีการแจ้งความเด็กหายมายังตำรวจ เราจะถือว่า ทุกกรณีมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะการที่เด็กก้าวเท้าออกจากบ้าน ย่อมเกิดอันตรายได้รอบด้าน ทั้งสวัสดิภาพและความปลอดภัย อาจเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก การมีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อันนำมาซึ่งปัญหาสังคมในด้านอื่น ตลอดจนอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์

ตามที่มูลนิธิกระจกเงา ได้รายงานสถานการณ์เด็กหายเมื่อปีที่ผ่านมา มีกรณีที่เด็กถูกลักพาตัวไปเป็นเครื่องมือในการขอทาน โดยกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส) กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับการประสานงานจากมูลนิธิกระจกเงา ได้ให้การช่วยเหลือ เด็กชายแบงค์ อายุ 8 ขวบ ถูกลักพาตัวไป ขณะไปรับแจกข้าวสารที่โรงเจ โดยผู้ก่อเหตุมีพฤติการณ์ชักชวนเด็กไปกินขนมและเที่ยวเล่น จนเด็กเกิดความไว้วางใจ และพาเด็กไปเร่ขอทานในสถานที่สาธารณะ ซึ่งตัวผู้ก่อเหตุ ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ เพราะเคยมีคดีพรากเด็ก ในหลายท้องที่

จึงขอฝากย้ำเตือนไปยังผู้ปกครองในการเฝ้าระวังเด็กโดยเฉพาะช่วงอายุ 4-10 ขวบ จะมีความเสี่ยงสูงสุดในการถูกลักพาตัว ปัจจัยเสี่ยงสูงสุด คือ การที่ผู้ปกครองปล่อยเด็กวิ่งเล่นตามลำพัง แม้ว่าบริเวณที่เด็กวิ่งเล่น จะคุ้นเคยอยู่มาตั้งแต่เด็ก ผู้ก่อเหตุจะใช้โอกาสนี้ เข้ามาตีสนิทพูดคุยกับเด็กเมื่อเด็กอยู่ตามลำพัง นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุบางราย เช่น กรณีน้องจีโอ ยังไปหลอกเด็กตามร้านเกม ให้เงินเด็กในการเล่นเกม เพื่อหลอกล่อให้เด็กตายใจ

ขณะที่ นางตุ๊กตา (ขอสงวนนามสกุล) มารดาน้องการ์ตูน เด็กหญิงวัย 6 ขวบ เหยื่อฆาตกรรมโดยนายติ๊งต่าง ลักพาตัวเด็กและฆาตกรรมต่อเนื่อง 3 ศพ เหตุเกิดเมื่อปี 2556 เปิดใจทั้งน้ำตา โดยนางตุ๊กตา กล่าวว่า การเสียบุตรสาวไปจากเหตุการณ์นี้ สร้างบาดแผลในใจจนลบล้างไม่ได้ เป็นความผิดของคนในครอบครัวที่ประมาท จนทำให้สูญเสียลูกไป อยากฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง เพียงเสี้ยววินาทีที่พลาดเผลอ อาจเป็นความเสียใจไปตลอดชีวิต ไม่อยากให้มีเด็กคนไหนต้องโชคร้ายและเสียใจแบบครอบครัวของตน

ทั้งนี้ พ.ต.ท.มโรดม์ ฝากเตือนประชาชนในวันเด็กแห่งชาตินี้ว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ปกครอง เพื่อป้องกันเด็กสูญหายพลัดหลงในงานวันเด็ก 1.ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า 2.ให้ถ่ายรูปล่าสุด พร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน 3.ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้ 4.สอนลูกหากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ 5.สอนลูกหากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป พร้อมตะโกนให้คนช่วย ทั้งนี้ หากเกิดการสูญหาย หากค้นหาในบริเวณงานแล้วยังไม่พบตัว ให้โทรฯ แจ้ง 191 หรือแจ้งความเด็กหายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอครบ 24 ชม.