เมื่อวันที่ 14 ม.ค. สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง เปิดจุดยืนการเมืองของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 1,081 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7-13 มกราคม พ.ศ.2567 พบว่า เมื่อถามถึงจุดยืนการเมืองของประชาชน ถ้าวันนี้เลือกตั้ง พบว่า สูสีกันมากระหว่างร้อยละ 40.5 สนับสนุนเลือกรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 39.3 ไม่เลือกรัฐบาล และร้อยละ 20.2 กลาง ๆ

เมื่อแบ่งออกตามเพศ พบว่า ร้อยละ 43.7 ของเพศชาย มากกว่า ร้อยละ 38.0 ของเพศหญิงสนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 39.1 ของเพศชายและร้อยละ 39.2 ของเพศหญิงไม่เลือกรัฐบาล และร้อยละ 17.2 ของเพศชาย น้อยกว่าร้อยละ 22.8 ของเพศหญิง ระบุ กลาง ๆ ไม่อยู่ฝ่ายใด เมื่อแบ่งออกจากช่วงอายุ พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.0 ไม่เลือกรัฐบาล

รองลงมาคือกลุ่มอายุ 20–29 ปี ร้อยละ 49.7 กลุ่มอายุ 30–39 ปี ร้อยละ 34.9 กลุ่มอายุ 40–49 ปี ร้อยละ 31.0 กลุ่มอายุ 50–59 ปี ร้อยละ 23.4 และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 25.0 ไม่เลือกรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กลุ่มอายุ 50–59 ปี ร้อยละ 59.7 สนับสนุนเลือกรัฐบาลมากกว่าทุกกลุ่ม รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 40–49 ปี กลุ่มอายุ 30–39 ปี ร้อยละ 44.9 กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 39.3 กลุ่มอายุ 20–29 ปี ร้อยละ 32.1 และกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีเพียงร้อยละ 9.8 สนับสนุนเลือกรัฐบาลน้อยที่สุด

เมื่อแบ่งออกตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 41.7  สนับสนุนเลือกรัฐบาลมากกว่ากลุ่มปริญญาตรีร้อยละ 39.9 และกลุ่มสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 36.4 ในขณะที่ กลุ่มการศึกษาปริญญาตรีร้อยละ 41.0 กลุ่มสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 40.9 และกลุ่มต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 36.6 ไม่เลือกรัฐบาล

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อแบ่งออกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มแม่บ้านและเกษียณอายุ ร้อยละ 56.4 กลุ่มเกษตรกรรับจ้างทั่วไปร้อยละ 50.0 สนับสนุนเลือกรัฐบาลมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในขณะที่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.0 และกลุ่มคนว่างงานร้อยละ 47.6 ไม่เลือกรัฐบาลมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.4 สนับสนุนรัฐบาลมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลางร้อยละ 42.0 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 39.9 ภาคใต้ร้อยละ 32.6 และภาคอีสานร้อยละ 32.0 สนับสนุนเลือกรัฐบาล ถ้าวันนี้เลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างในภาคใต้ร้อยละ 47.8 ไม่เลือกรัฐบาลมากที่สุด รองลงมาคือภาคกลางร้อยละ 42.0 กรุงเทพมหานครร้อยละ 41.0 อีสานร้อยละ 405 และภาคเหนือร้อยละ 11.3 ไม่เลือกรัฐบาลน้อยที่สุด ตามลำดับ

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุว่า โดยภาพรวมของผลสำรวจครั้งนี้พบว่า “ปิ่มมาก ใกล้จุดเดือด” ระหว่างกลุ่มสนับสนุนเลือกรัฐบาลกับกลุ่มไม่เลือกรัฐบาล ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง เพราะวันนี้กลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง ไม่อยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้กระจายตัวแบ่งออกไปที่จุดยืนการเมืองสนับสนุนเลือกรัฐบาลและไม่เลือกรัฐบาลในสัดส่วนพอๆ กัน

จึงมองได้ว่ากระแสร้อนทางการเมืองกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่โหมดของอาการแกว่งตัวทางการเมืองในอนาคตอันใกล้และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายอย่างน่าเป็นห่วงได้ นับจากนี้ไปการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังเคลื่อนตัวรอบๆ จุดเปราะบางหลายปมในเวลานี้อาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองที่จะเผชิญหน้ากัน