เมื่อวันที่ 24 ม.ค. พญ.ศศธร สิงห์ทอง นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสักตามร่างกายได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายนิยมสักมากขึ้น โดยในส่วนของผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นการสักแฟชั่น และเพื่อความงาม ที่พบมากคือการสักคิ้ว สักขอบตา สักปาก และบริเวณต่างๆ ตามร่างกาย ซึ่งหากรับบริการที่ได้มาตรฐานทั้งสถานที่ที่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์สักมีมาตรฐาน และสีที่ใช้มีคุณภาพมาตรฐานก็จะไม่ค่อยพบปัญหามากนัก แต่หากเข้ารับบริการสักที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ที่ผ่านมา สถาบันโรคผิวหนังได้รับเคสที่ต้องแก้ไขปัญหาจากการสักเป็นระยะๆ โดยหากเป็นเรื่องความไม่พึงพอใจต้องการลบรอยสักจะมีเคสเข้ามาที่สถาบันฯ เรื่อยๆ ส่วนการรักษาผลข้างเคียงจากการสัก เฉพาะเคสที่ตนดูแลก็ประมาณเดือนละ 4-5 ราย

ทั้งนี้ ปัญหาจากการสัก คือ หลังสักเสร็จแล้วมีความผิกปกติ เป็นตุ่ม เป็นก้อน หรือบางคนเกิดการติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด หรือติดเชื้อจากขั้นตอนการเตรียมผิวก่อนสักที่ไม่สะอาดเพียงพอ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเกิดปฏิกิริยาจากเม็ดสีที่ฝังเข้าไปใต้ผิวหนัง เกิดอาการแพ้ หรือเพราะสีที่ไม่ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องมีการตัดชิ้นเนื้อไปเพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาหลายเดือน หรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคน ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่สามารถแก้ไขได้ แต่แก้ไขได้บางส่วน ไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม 100% ได้ ทั้งนี้ จากการสอบสวนย้อนกลับก็พบว่า เข้ารับบริการสักในร้านที่เป็นมาตรฐานอยู่ และผลกระทบจะเป็นเรื่องของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้ น้อยมากที่จะเป็นหมอกระเป๋า กรณีนี้ก็จะนึกถึงปัญหาการติดเชื้อต่างๆ มากกว่า 

เมื่อถามว่าผลจากการสักแล้วเกิดความผิดปกติเหล่านี้จะนำสู่การเป็นแผลคีลอยด์ได้หรือไม่ พญ.ศศธร กล่าวว่า ได้เช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่การสักจะอยู่ที่ชั้นใต้ผิวหนัง ไม่ค่อยมีปฏิกิริยาทำให้เกิดแผลคีลอยด์สักเท่าไหร่ แต่เห็นจากข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีการสักแล้วกลายเป็นคีลอยด์นูนขึ้นมา ก็ต้องไปดูว่า วิธีการที่ใช้สักนั้นลงลึกเกินไปหรือไม่ ชั้นที่เอาเม็ดสีใส่ลงไปนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะโดยปกติเมื่อสักเสร็จแล้วจะพบแค่เม็ดสีไม่สม่ำเสมออาจจะต้องมาเติม หรือเกิดตุ่มขึ้น แต่ไม่ค่อยเกิดแผลเป็นคีลอยด์ตามมาเท่าไหร่ ทั้งนี้การรักษาคีลอยด์ก็สามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลา การตอบสนองแล้วแต่บุคคล และขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นด้วย เพราะแต่ละตำแหน่งของร่างกายต้องวางแผนการรักษาแตกต่างกัน หลักๆ จะฉีดยาสเตียรอยด์เข้าใต้ผิวหนัง หากเป็นช่วงแรกที่เกิดแผลแข็งมาก หรือกำลังโตก็จะค่อนข้างเจ็บ การตอบสนองขึ้นกับแต่ละบุคคล ดังนั้นบางคนการรักษาก็ต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ 

ขอแนะนำคนที่กำลังอยากจะสัก ขอให้เลือกร้านที่ได้มาตรฐาน หากเปิดมาสักระยะก็ดี จะได้ดูความชำนาญของช่างด้วย รวมถึงให้ดูเรื่องอุปกรณ์ สีที่ใช้ได้มาตรฐานหรือเปล่า ที่สำคัญแม้ว่าการสักจะเป็นที่ยอมรับในสังคมแล้ว แต่ก่อนสักอาจจะต้องคิดว่า ในอนาคตเราโอเคกับรอยสักนี้หรือไม่ เพราะมันต้องอยู่กับเราไปตลอดชีวิต เพราะการลบรอยสักค่อนข้างเจ็บ มีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ หากสักแล้วเกิดปัญหาเบื้องต้น ให้กลับไปที่ร้านสอบถามถึงมาตรฐานอุปกรณ์ สีที่ใช้ และหาทางออก หากร้านแนะนำไม่เหมาะสม ก็อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อวางแผนในการรักษาอย่างปลอดภัย ไม่ควรซื้อยารักษาเอง ซึ่งรวมถึงการลบรอยสักด้วย

“อีกอันหนึ่งในช่วงหลัง ๆ มีการพูดถึงการใช้กรดลบรอยสักตามซุ้มตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งเท่าที่เจอคนที่ใช้กรดเพื่อลบรอยสักเอง จะทำให้เกิดแผลเป็นนูนตามมา แต่เม็ดสีที่ต้องการลบไม่ได้หายไป กรณีแบบนี้นานๆ จะเจอครั้งหนึ่ง แต่พอเจอแล้วก็เป็นความเสียหายที่ค่อนข้างแก้ยาก ควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาที่ปลอดภัย สำหรับบริเวณที่มักพบคีลอยด์ คือตามกรอบหน้า หัวไหล่ หน้าอก หลัง” พญ.ศศธร กล่าว.