เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “จิสด้า” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 26 ม.ค. 67 พบว่ามี 23 จังหวัด ที่มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสีส้ม โดย 3 อันดับแรก คือ #สุโขทัย 67.9 ไมโครกรัม #ลำพูน 61.8 ไมโครกรัม และ #ตาก 52.5 ไมโครกรัม ในส่วนของ 54 จังหวัดที่เหลือ พบคุณภาพอากาศปานกลาง ไปจนถึงอากาศดีมาก

ในขณะที่กรุงเทพมหานครช่วง 9 โมงวันนี้ พบค่า PM2.5 ในระดับที่มีคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสีส้ม 5 เขต คือ #หนองแขม 43.6 ไมโครกรัม #บางบอน 38.8 ไมโครกรัม #บางขุนเทียน 38.3 ไมโครกรัม #ทวีวัฒนา 38.1 ไมโครกรัม และ #บางแค 37.6 ไมโครกรัม

ทั้งนี้ จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดยจิสด้า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 114 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 33 จุด พื้นที่เกษตร 26 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 23 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 21 จุด ชุมชนและอื่นๆ 10 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 1 จุด โดยจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก #แพร่ 13 จุด #พะเยา 11 จุด #หนองบัวลำภู 9 จุด นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อน มากสุดอยู่ที่กัมพูชา 3,511 จุด เวียดนาม 385 จุด ลาว 153 จุด และเมียนมา 152 จุด

แอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสีส้ม ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมา โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” ดาวน์โหลดใช้งานแอปพลิเคชัน เพียงท่านพิมพ์คำว่า เช็คฝุ่น ทั้งในระบบ IOS และ Android ก็สามารถใช้งานได้เลยทันที