ภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ ได้ร่วมประชุมหารือความคืบหน้าทางคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีเนื้อสัตว์เถื่อนกว่า 10,000 ตู้ (เนื้อหมูเถื่อน เนื้อวัวเถื่อน และตีนไก่สวมสิทธิ) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา จำนวน 5 ราย ได้แก่นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ (บุตรชายเฮียเก้า) นายสมเกียรติ กอไพศาล (อดีตเลขานุการนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) นายหยาง ยา ซุง และ น.ส.นวพร เชาว์วัย (สองสามีภรรยา) ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 , พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 , ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ก่อนวางแนวทางการสอบสวนและเตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับตู้คอนเทเนอร์บรรจุชิ้นส่วนสัตว์แช่แข็ง เนื้อสัตว์นานาชนิดกว่า 10,000 ตู้ ที่ถูกนำเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 จนถึงปัจจุบัน เพื่อขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการลักลอบนำเข้าโดยผิดกฎหมายจนส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมใหญ่ร่วมกันของคณะพนักงานสอบสวนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับทราบในประเด็นที่ดีเอสไอ จะมีการประสานข้อมูลกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้ประกอบการสอบสวนในคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีเนื้อสัตว์เถื่อน 10,000 ตู้ ซึ่งตนได้รับแจ้งว่าระหว่างวันที่ 30-31 ม.ค. จะมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ เดินทางเข้ามอบเอกสารข้อมูลและพยานหลักฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนของดีเอสไอ โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรประเภทชิ้นส่วนสัตว์ต่างๆ ย้อนไทม์ไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งภายในเอกสารบางประเภทก็จะแสดงรายการสินค้านำเข้าว่าเป็นอะไรบ้าง รวมถึงจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายชื่อของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในห้วงเวลาดังกล่าว เช่น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามด่านท่าเรือ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจตราสินค้านำเข้า เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประมง นายสัตวแพทย์ประจำโรงงาน เป็นต้น และเมื่อดีเอสไอได้รับข้อมูลทั้งหมดจนตรวจสอบเสร็จสิ้น จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการเรียกบุคคลภายในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าให้ปากคำในฐานะพยานตามลำดับ

เมื่อถามถึงแนวทางการตรวจสอบเอกสารหากได้รับจากเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ เรียบร้อยแล้วนั้น พ.ต.ต.ณฐพล อธิบายว่า ในใบเอกสารจะมีข้อมูลปรากฏวันที่เวลาที่เกิดการนำตู้คอนเทรนเนอร์ออกจากท่าเรือ พนักงานสอบสวนก็จะตรวจสอบไปยังวันเวลาดังกล่าว และจะดูเลขประจำตู้คอนเทรนเนอร์ ซึ่งลักษณะการตรวจสอบเช่นนี้ ก็เพื่อไปค้นหาต่อว่าตู้คอนเทรนเนอร์ที่ถูกนำออกไปจากท่าเรือ ได้ถูกกระจายไปยังจุดใดบ้าง เช่น ถูกนำไปฝากแช่ไว้ที่บริษัทห้องเย็นใดหรือไม่ และถ้ามีการฝากแช่จริง บริษัทห้องเย็นนั้นๆรับฝากไว้จำนวนกี่ตู้ และตู้ทั้งหมดที่รับฝากแช่ ภายในเป็นสินค้าชิ้นส่วนสัตว์ประเภทใด รวมถึงสินค้าได้ถูกจำหน่ายไปยังที่ใดบ้าง

ส่วนประเด็นของเฮียเก้าและความเกี่ยวข้องกับบริษัทห้องเย็นนั้น พ.ต.ต.ณฐพล เผยว่า เฮียเก้าไม่มีบริษัทห้องเย็นเป็นของตัวเอง แต่ใช้บริการฝากแช่สินค้ากับห้องเย็นของบริษัทอื่นๆทั้งหมด ส่วนนายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ (ลูกชายเฮียเก้า) ที่มีการรายงานของสื่อมวลชนว่ามีรายชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามใน 9 บริษัท ดีเอสไอก็จะต้องตรวจสอบเช่นกัน แต่ก็ต้องรอให้นายกรินทร์ เข้ามอบตัวก่อน เพราะตามรายงานจะเห็นได้ว่าทั้ง 9 บริษัท มีชื่อของบุคคลอื่นๆมาเป็นกรรมการร่วมด้วย พนักงานสอบสวนจึงต้องใช้ถามนายกรินทร์ด้วยว่ารู้จักกันอย่างไร มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร หรือความเป็นมาในการทำธุรกิจร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เฮียเก้า (ผู้เป็นพ่อ) ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน เจ้าตัวก็ยังติดต่อลูกชายไม่ได้ แต่เฮียเก้าจะต้องเข้ามายื่นเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 18 ก.พ. โดยจะชี้แจงในประเด็นทั้งหมดที่ในวันเข้ามอบตัวไม่ได้ให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวน อาทิ ผังสมาชิกสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเอเชีย (Thai – Asia Economic Exchange Trade Association) ซึ่งมีเฮียเก้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคม เส้นทางการเงิน การทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งนี้ ในการสอบปากคำครั้งแรก เฮียเก้าบอกว่าตนเองทำแค่ 2 ธุรกิจ คือ ส่งขายตีนไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศ กับประกอบกิจการจำหน่ายผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็ก ยี่ห้อ MIMIPAPA ส่วนประเด็นเรื่องการตรวจสอบรายการทรัพย์สินของเฮียเก้าและพวกทั้ง 5 ราย ดีเอสไอได้จัดทำรายการข้อมูลทั้งหมดนำส่งให้กับสำนักงาน ปปง. เรียบร้อยแล้ว ทราบว่าเจ้าหน้าที่ ปปง. อยู่ระหว่างการสืบทรัพย์และตรวจสอบ ซึ่ง ปปง. จะมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อมีมติในการออกคำสั่งอายัดตามขั้นตอนของ ปปง.

พ.ต.ต.ณฐพล เผยด้วยว่า สำหรับคดีตีนไก่สวมสิทธิที่มีเฮียเก้าและพวกเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น เบื้องต้นพนักงานสอบสวนพบบริษัทชิปปิ้งเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจชิ้นส่วนไก่ ตีนไก่แช่แข็งและชิ้นส่วนหมูแช่แข็ง จำนวน 3 บริษัท โดยไม่ได้เป็นกลุ่มบริษัทเดิมที่ถูกดีเอสไอดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังพบว่ามีความเป็นไปได้ว่าทั้ง 3 บริษัทจะไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ในคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีเนื้อสัตว์เถื่อน 10,000 ตู้ (หมู วัว ไก่) แต่ยังไปเกี่ยวข้องกับคดีพิเศษที่ 126/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้ที่ถูกจำหน่ายไปหมดแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผล

ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณฐพล เผยต่อว่า ส่วนความคืบหน้าของคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ จากเดิมเราได้แยกสำนวนออกเป็น 10 เลขคดีพิเศษ เพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดในรายบริษัทชิปปิ้งเอกชนทั้ง 10 บริษัท (จับกุมครบแล้ว) กระทั่งได้มีการขยายผลพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปสำนวนนำส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว 3 สำนวน จึงเหลืออีก 7 สำนวนที่ต้องดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้คณะพนักงานสอบสวนจะลงพื้นที่ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อสอบสวนพยานบุคคลและจะขอเอกสารเพิ่มเติม ทั้งจากบริษัทสายเรือ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมประมง และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเร่งรัดการทำสำนวนให้แล้วเสร็จ