นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้ดำเนินการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ปี 2567 – 2568 โดยมีเป้าหมายผลักดันทุกโครงการให้เป็นรูปธรรม รวมถึงจัดทำแผนเพิ่มเติม สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ซึ่งทุกหน่วยงานในสังกัดฯ ได้แปลงเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของกระทรวงคมนาคม เพื่อกำหนดการดำเนินงาน และเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน ในการพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางถนน ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้ประชาชนได้รับความสะดวก ความปลอดภัยในการเดินทาง และเสียค่าใช้จ่ายในราคาที่เหมาะสม รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

สำหรับภาพรวมการลงทุนด้านคมนาคมในปี 67 – 68 มี 152 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่จะเปิดให้บริการในปี 67 จำนวน 64 โครงการ และโครงการที่จะเริ่มก่อสร้าง 31 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 389,750 ล้านบาท ขณะที่ในปี 68 มีโครงการใหม่ 57 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 263,016 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวของปี 68 มีโครงการขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าลงทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท 13 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 254,183 ล้านบาท

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม มุ่งเน้นพัฒนางานคมนาคม และการขนส่งในทุกมิติ แบ่งเป็น 1.การพัฒนาการขนส่งทางถนน ซึ่งในปี 67 มี 18 โครงการที่จะเปิดให้บริการในปี 67 อาทิ เช่น มอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี, มอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา และสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ ส่วนโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 67 จำนวน 13 โครงการ อาทิ มอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางบัวทอง – บางปะอิน มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยาย M7 เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ลำลูกกา) และทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ตอนกะทู้ – ป่าตอง เป็นต้น และโครงการใหม่ในปี 68 จำนวน 24 โครงการ อาทิ ก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อม M6 – ทล.32 ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก แห่งที่ 2 ที่ อ.สุไหงโกลก – รันเตาปันยัง จ.นราธิวาส และโครงการพัฒนาถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทล.121)

2.การพัฒนาการขนส่งทางบก โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 67 มี 11 โครงการ อาทิ การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 29 เส้นทาง และ ของบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) 21 เส้นทาง ส่วนโครงการใหม่ที่จะเริ่มในปี 67 มี 8 โครงการ อาทิ การผลักดันรถโดยสารพลังงานสะอาด ของ ขบ., องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บขส. โดยโครงการใหม่ในปี 68 มี 7 โครงการ อาทิ โครงการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ของ บขส. 75 คัน, 3.ด้านการพัฒนาการขนส่งทางราง มีโครงการที่จะเปิดให้บริการปี 67 จำนวน 9 โครงการ อาทิ รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร

ส่วนโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 67 มี 6 โครงการ อาทิ รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช และรถไฟทางคู่ ช่วง ชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ส่วนโครงการใหม่ในปี 68 มี 10 โครงการ อาทิ การจัดหารถจักรและล้อเลื่อน เพื่อรองรับรถไฟทางคู่, การศึกษาจัดทำมาตรฐานเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่ง และการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …., 4.การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ มีโครงการที่จะเปิดให้บริการปี 67 จำนวน 8 โครงการ อาทิ พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier)  4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือปากเกร็ด จ.นนทบุรี ท่าเรือพระปิ่นเกล้า และท่าเรือพระราม 5

สำหรับโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างปี 67 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ พัฒนาท่าเรือภูมิภาคเชื่อมโยงกระบี่ – พังงา – ภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) ประกอบด้วย ท่าเรือมาเนาะห์ และท่าเรือช่องหลาด จ.พังงา และโครงการใหม่ในปี 68 มี 8 โครงการ อาทิ พัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน เพิ่มอีก 2 ท่า ได้แก่ ท่าเรือท่าเลน จ.กระบี่ และท่าเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต และพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) เพิ่มอีกจำนวน 15 ท่า และ 5.การพัฒนาการขนส่งทางอากาศ มีโครงการที่จะเปิดให้บริการปี 67 จำนวน 18 โครงการ อาทิ ทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง และอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ท่าอากาศยานกระบี่

ส่วนโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 67 มี 2 โครงการ อาทิ ก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศตะวันออก และโครงการใหม่ในปี 68 มี 8 โครงการ อาทิ ก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ท่าอากาศยานชุมพร และซ่อมบำรุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ ท่าอากาศยานกระบี่ อย่างไรก็ตามในปี 68 กระทรวงคมนาคมมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ที่มีมูลค่าลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท 13 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 254,183 ล้านบาท ได้แก่ มิติการขนส่งทางถนน อาทิ โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านทิศใต้, โครงการทางแยกต่างระดับสันป่าตอง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่, โครงการพัฒนาถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทล.121) และโครงการต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ – ศาลายา

ด้านมิติการขนส่งทางบก ได้แก่ โครงการสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนมิติการขนส่งทางราง ได้แก่ แผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ ขณะที่มิติการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ ขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำเศรษฐกิจ 10 แห่ง เป็นต้น และมิติการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ โครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ ของท่าอากาศยานชุมพร อย่างไรก็ตาม ในปี 68 กระทรวงคมนาคมจะเร่งลงทุนโครงการฯ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบราง และโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงโครงการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุในการขนส่ง ได้แก่ มิติระบบราง จะเร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน (Timeline) ดังนี้ เร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร (กม.) และเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ให้แล้วเสร็จตามแผน

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจากนโยบายวีซ่าฟรีของรัฐบาล คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก กระทรวงคมนาคมจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาจุดเชื่อมต่อ(Gateway)ทางอากาศ โดยพัฒนาปรับปรุงอาคาร ท่าอากาศยาน ให้สะอาด ปลอดภัย สะดวก นอกจากนี้จะปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอาคารผู้โดยสาร และทางวิ่ง (Runway) ให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยกระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถทางด้านอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน.