หลังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ส่งผลการศึกษาเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ไปยังรัฐบาล เพื่อประกอบการตัดสินใจ มีเนื้อหา 61 หน้า แต่ถ้ารวมภาคผนวกและข้อมูลประกอบจะมีประมาณ 100 กว่าหน้า

มีประเด็นสำคัญที่ 4 ประเด็น หลัก ๆ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ 2.ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤติ 3.ความเสี่ยงด้านกฎหมาย อาทิ รัฐธรรมนูญปี 60 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 และ 4.ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน และประเด็นการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

และ 8 ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ อาทิ การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 66 เกี่ยวกับโครงการฯ มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้และจากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤติที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของ ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น และ หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน ควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ และไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว เป็นต้น

“เรื่องแรกที่ต้องมอง คือประเทศไทยประสบปัญหาสภาวะวิกฤติหรือไม่ แต่ในชั้นศึกษาที่ ป.ป.ช. แต่งตั้งขึ้น มีมุมมองว่ายังไม่เข้าขั้นวิกฤติ แต่หากรัฐบาลมองว่าวิกฤติ ก็ถือว่าเป็นมุมมองของรัฐบาลได้ และสามารถดำเนินการขับเคลื่อนไปได้ ป.ป.ช. มีหน้าที่ส่งเสียงเท่านั้นเอง” เลขาฯ ป.ป.ช. ระบุ

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า “ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เศรษฐกิจยังเติบโตได้ คือ ไม่ห้ามแจกเงิน แต่ต้องไม่หว่านแห เพราะผลที่กลับมาน้อยกว่าเม็ดเงินที่หว่านไป” ส่วน คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ให้เป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมี “หมายเหตุ” แนบท้ายว่า จะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ภายใต้กรอบกฎหมาย ความคุ้มค่า และต้องฟังความเห็นรอบด้าน

หากประมวลจากท่าทีและความเคลื่อนไหวทั้งหมด ณ เวลานี้ นโยบาย “เรือธง” รัฐบาล ยังไม่มีความคืบหน้าเลยแม้แต่น้อย ตอนนี้บรรดา “นักร้อง” เริ่มออกมาขู่กันแล้ว ซึ่งต้องรอดูว่าใครจะเป็น “แพะรับบาป” หรือจะเป็น ลับ ลวง พราง ให้ “เศรษฐา” ลุยไฟ เคลียร์ทางให้ เลือดแท้ “ชินวัตร” ขึ้นมาเป็น “นายกฯ” แทนหรือไม่.