แต่เป็นเรื่องที่ 1.ตามหลักสากลไม่พึงกระทำ การอารักขาบุคคล VIP มีในทุกประเทศ ถ้าในกรณีคุณไม่เห็นด้วยกับจีน แล้วผู้นำจีนเยือนไทย ไปไล่จี้ขบวนท่าจะจบไม่สวย

2.การกระทำนั้น ประกอบกับพฤติกรรมผู้ก่อเหตุก่อนหน้านี้ ส่อให้เข้าใจได้ว่า “ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง” ในโลกปัจจุบันชุดอุดมการณ์หลักคือชุดอุดมการณ์แนวขวา อนุรักษนิยม ซึ่งยึดถือเรื่องจารีตประเพณีแบบแผนเดิมว่าเป็นองค์ประกอบรัฐชาติ อีกฝั่งหนึ่งคือฝ่ายซ้าย แนวชุดอุดมการณ์แบบทุกคนมีความเท่าเทียม อ้างประชาธิปไตย

ก็ไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุมีใคร spoiled (ตามใจ) จนเสียคนหรือไม่ เพราะอ้างประชาธิปไตยแต่เคลื่อนไหวเน้นการยั่วยุ คลิปเหตุการณ์ตอนป่วน สน.สำราญราษฎร์ก็มีให้เห็นอยู่ แนวๆ เป็นประชาธิปไตยแบบไม่ฟังความเห็นต่าง อ้างสิทธิเสรีภาพกันเต็มที่ โดยลืมไปว่าบางทีไปละเมิดผู้อื่น หรือย่ำยีต่อความเคารพศรัทธาของผู้อื่น

ผลที่เกิดขึ้นตามมา กลายเป็นความวุ่นวายในสังคมที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น และจะเกิดการ “แบ่งข้าง” ซ้าย ขวาขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งไม่รู้ว่า เหตุการณ์ “น้ำผึ้งหยดเดียว” มันสามารถขยายไปได้ถึงระดับไหน ขัดแย้งเหมือนตอน 6 ตุลา 19 ที่ลงถนนไล่ฟาดฟันกัน หรือแค่ตีวาทะกันรัวๆ บนอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงขนาดใหญ่ขึ้นในประเทศ

กลุ่มทะลุวังต้องการอะไร ? เฉพาะแก้ ม.112 หรือไม่ ? ซึ่งมันเป็นกฎหมายที่ต้องมีเพื่อคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ หรือต้องการอะไรมากกว่านั้น ? ตามเอกสารที่ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เคยอ่านในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหรือไม่ ?  ..ซึ่งก็เป็นการใช้วาทกรรม “คนเท่ากัน” มาปลุกเร้าเยาวชนจนเกิดกลุ่มขวางโลกต่างๆ

ประเทศชาติต้องการการเดินหน้า น่ารำคาญที่จะมา “ตีฟู” กับเรื่องกลุ่ม-ผู้หญิงตามใจตัวเอง จนทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกขึ้นมาอีก ซึ่งทางที่ดี เรื่องนี้ควรจะจบ ใครได้ประกันแล้วมีปัญหาก็ถอนเสีย  การปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง การปะทะทางอุดมการณ์เป็นเรื่องใหญ่ระดับก่อสงครามการเมืองได้ อย่ามองแค่ตื้นๆ ว่า ทำแค่นี้ผิดอะไรต้องเข้าคุก ?

เรื่องนี้ขนาดกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหารออกมาแสดงท่าทีให้กำลังใจทูลกระหม่อมอาจารย์ ระวังมันจะไม่เล็ก ..ถึงได้บอกว่า มันควรจะจบไปได้แล้ว แม้แต่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือแม้แต่พวกนักสันติวิธีทั้งหลาย ก็ยังเสนอว่า ต้องมีพื้นที่รับฟังความเห็นต่างที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม พื้นที่รับฟังความเห็นต่างนั้น จะต้อง “ฟัง” แบบลึกๆ คิดแบบ empathy คือแนวๆ เข้าอกเข้าใจฝ่ายตรงข้ามอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่มุ่งแต่ว่ากูต้องชนะ แล้วตะบี้ตะบันใช้เหตุผล “คนเท่ากันๆๆ” ปิดหูไม่ฟังประโยคอื่น อย่างที่ทั้งนายกฯ ทั้งผู้นำฝ่ายค้านบอก คือ ต้องใช้พื้นที่สภา จะเข้าห้องประชุมใหญ่หรือตั้ง กมธ.วิสามัญอะไรก็แล้วแต่

และอาจเป็นโอกาสสำคัญ ในการที่จะได้พูดเรื่องการแก้ไข ม.112 ซึ่งมีความจำเป็นเพราะมาตรานี้ถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งกันในหลายคดี โดยยืนยันอำนาจของสภาในการแก้ไขกฎหมายได้ ..ที่สำคัญคือ “ไม่ใช่ใครฟ้องก็ได้” อาจต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองสั่งฟ้อง ซึ่งเรื่องนี้เคยพูดมาแล้วในสมัยรัฐบาลบิ๊กตู่ แต่ก็เงียบไป

 เมื่อมีคนพยายามตีฟู โดยไม่คิดถึงความขัดแย้งที่ตามมา ฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารต้องรีบระงับ.