“วิจัยกรุงศรี” ประเมินเศรษฐกิจการเงินของไทย โดยระบุว่า เงินเฟ้อปีนี้มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน วิจัยกรุงศรีชี้มีโอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลดหากแรงส่งเศรษฐกิจอ่อนแอลงชัดเจน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมติดลบมากสุดในรอบ 35 เดือน คาดเงินเฟ้อในปีนี้อาจเฉลี่ยต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากผลของมาตรการรัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -1.11% จาก -0.83% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นผลจากมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพด้านราคาพลังงาน

โดยทางการขยายเวลามาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และคงค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย ให้กับครัวเรือนบางส่วนตามเงื่อนไขที่กำหนด ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลง โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสุกร จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.52% ชะลอลงจาก 0.58% ในเดือนธันวาคม

วิจัยกรุงศรีประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกของปีอาจอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าสูงกว่าคาดได้ อาทิ ปัจจัยทางด้านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากความเสี่ยงของภัยแล้ง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงหากมีการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานแล้ว อาจจะทำให้เงินเฟ้อในบางเดือนพุ่งขึ้นได้

กนง.คงดอกเบี้ยด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อปีนี้ลง การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ มีมติ 5 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% จากการประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหาเชิงโครงสร้าง

ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยธปท.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็นขยายตัว 2.5-3.0% จากเดิมคาด 3.2% (ไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำใกล้ 1% (เดิมคาด 2%) ก่อนจะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับคาดการณ์เดิม ด้านกรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

แม้ถ้อยแถลงล่าสุดของ กนง.ยังคงชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว แต่จากมติคงดอกเบี้ยที่ไม่เป็นเอกฉันท์ การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ตลาดประเมินว่ามีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ธปท.ระบุว่า “นโยบายการเงินมีความสามารถจำกัดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง และนโยบายการเงินทำงานผ่านด้านอุปสงค์เป็นหลัก”

ด้านวิจัยกรุงศรี ประเมินว่า จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และอาจเติบโตต่ำต่อเนื่องจากความท้าทายหลายประการและยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงคาดว่า กนง. อาจจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ และพร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อมีข้อมูลมากขึ้นที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอลงอย่างชัดเจน