เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายสถานพยาบาล 5 สถาบัน ประกอบด้วย เครือข่าย รพ.กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ชมรม รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ชมรม รพ.สถาบันกรมการแพทย์ สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคม รพ.เอกชน ประมาณ 100 คน แต่งชุดดำ ถือป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อช่วยเหลือกรณีปัญหาบริหารการเงินการคลังของ สปสช.ที่ทำให้หน่วยบริการขาดสภาพคล่อง (ขาดทุน)

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่าย รพ.กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ประเทศไทย (UHosNet) กล่าวว่า ระบบสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ การจะทำให้ระบบยั่งยืนต้องมีคนที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการตามที่ควรเป็น ที่ผ่านมามีการทักท้วงภายในเป็นระยะ เพราะระบบ สปสช.ค่อนข้างบิดเบี้ยว ไม่มีการคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะสถานพยาบาลทั้งใน กทม.และภูมิภาค ถ้าเปรียบกับตอนโควิด รพ.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยออกแบบระบบ แล้วคนจ่ายเงินตามหลังก็ตามนั้นก็ผ่านวิกฤติมาได้ แต่ระบบปกติมีตรงนี้ไม่ครบถ้วน ทำให้สถานประกอบการภาคเอกชนหนีหายไปเยอะ แต่ภาครัฐหนีไม่ได้ อย่าง รพ.เอกชนในระบบบัตรทองแทบไม่เหลือแล้ว เหลือแต่ รพ.เอกชนเล็กๆ ซึ่งถามจากนายกสมาคม รพ.เอกชน บอกว่ามีเพียง 20-30 รพ.ทั่วประเทศที่ต้องพึ่งพาเพื่อไปลด  Fix Cost ซึ่งถ้าเราขาดพวกนี้ก็ทำให้ดำเนินการไม่ได้ 

“คนที่อยู่ในระบบ ซึ่งอัตราค่าบริการต่างๆ ไม่เป็นธรรม เราต้องการความเป็นธรรมและยุติธรรม จึงเดินทางมาวันนี้ เพื่อขอให้ รมว.สธ.นำเรื่องนี้ไปพิจารณา ทั้งนี้ ยืนยันว่า ระบบบริหารจัดการของ สปสช.ต้องแก้โดยด่วน ส่วนจะรูปแบบใด รมว.สธ.ที่มองภาพกว้างของระบบ จะเป็นหัวโต๊ะทำให้มันดีขึ้นกว่าปัจจุบัน” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว และว่า ปีงบฯ 2566 โรงเรียนแพทย์ขาดทุนในส่วนของผู้ป่วยในค่อนข้างเยอะ แต่ก็ทน ส่วนระบบผู้ป่วยนอก มูลค่ารวมกันพันกว่าล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวบรวมครบทุกสมาชิก ส่วนปีงบฯ 2567 ก็คงไม่แคล้วถ้ายังดำเนินการแบบนี้ จึงต้องออกมาเรียกร้องตรงนี้ และคิดว่าการตั้งคณะกรรมการผู้ให้บริการ (Provider Board) ซึ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปเป็นกรรมการ  ซึ่งถ้าดูการประกาศของ สปสช. จริงๆ ต้องออกตั้งแต่ต้นปีงบฯ คือก่อน ต.ค.ไม่ใช่มาออกหลังปีใหม่ ส่วนการของบฯ ทาง สปสช.ต้องทำข้อมูลจริงไปเสนอของบฯ ขาขึ้น รวมถึงวางระบบให้ดี ถ้ายังไม่แก้ไขก็คงตอบไม่ได้ว่าระบบจะทนได้อีกกี่ปี หน่วยบริการคำนึงถึงประชาชน และคิดว่าผู้ใหญ่ของบ้านเมือง โดยเฉพาะ รมว.สธ.และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ทิ้งเรื่องนี้ไว้แน่ๆ ถ้าบริการสาธารณสุขทรุดไป จะไม่มีใครมาปกป้องด้านสุขภาพอีก เรื่องนี้จะมีการติดตามต่อเนื่อง และจะเรียกร้องต่อ รมว.สธ. ต่อไป  

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรม รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป กล่าวว่า จากการศึกษาต้นทุนจากนักวิจัย พบว่า รพ.สังกัด สธ.ต้นทุน 1 หน่วยบริการประมาณ 1.3 หมื่นบาท  แต่ สปสช.กำหนดให้จ่าย 8,350 บาทต่อหน่วย ถามว่าขาดทุนเท่าไรย้อนหลังเท่าไรก็ต้องคำนวณ เพราะเรามีการเคลียร์ว่ามีให้จ่ายเท่าไรเราก็รับเท่านั้นมาตลอด ทั้งนี้ที่ผ่านมา เข้าใจว่า สปสช.มีข้อจำกัดด้วยงบประมาณที่ได้มา และบริหารด้วยงบเท่าที่มี จึงเกิดสภาวะจ่ายต่ำกว่าต้นทุน อย่างไรก็ตาม การมีกองทุนย่อยๆ เยอะใน สปสช.ก็มีผลต่อเรื่องนี้เยอะเช่นกัน เพราะเป็นลักษณะของการเงินนำการบริการ แต่หลักขององค์การอนามัยโลก ยึดถือคือ บริการที่จำเป็นต่อประชาชนนำก่อน แล้วการเงินมาสนับสนุน  

พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ทำงานไปแล้วในปีงบฯ 2566 แต่ สปสช.จ่ายครึ่งเดียว ส่วนปีงบฯ 2567 งบฯ ไม่เพียงพอ แค่ไตรมาสแรกงบฯ ถูกใช้เกินครึ่งแล้ว คาดว่าไม่ถึง 6 เดือนงบฯ ปี 2567 ก็จะหมดลง ทั้งนี้อยากให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สปสช.ย้อนหลัง ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้รับข้อมูลใดๆ จาก สปสช.เลย ทั้งที่ขอตรวจสอบมาตลอด อีกประการคนที่จะมาเป็น Provider Board ต้องเป็นคนกลางและควรแยกฝ่ายบริการออกจากการเงินเพื่อความโปร่งใสยุติธรรม  

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาดหรือเข้าข่ายล้มเหลวหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่มีสิทธิบอกว่าล้มเหลวหรือไม่ล้มเหลว แต่บอกแค่ว่าต้องทบทวนการบริหารจัดการจะเหมาะกว่า เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสิน เราแค่บอกข้อเท็จจริงให้รู้

ต่อมาเวลา 15.00 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ร่วมกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย รศ.นพ.สุรศักดิ์ นพ.อนุกูล มาแถลงข่าวร่วมกัน ภายหลังเข้าไปหารือในเรื่องนี้นานกว่า 2 ชั่วโมง โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.เข้าร่วม แต่ติดภารกิจไม่สามารถร่วมแถลงข่าวได้ โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าให้มี Provider Board เพื่อคอยสะท้อนถึงนโยบาย กฎเกณฑ์ กติกาของ สปสช.ออกมา และเห็นพ้องให้แก้ปัญหาเงินค้างจ่ายเร่งด่วน

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่ตรงกัน ของเดิมให้ชะลอการหักไว้ก่อน และให้มีคณะทำงานร่วมกัน และมีคณะกรรมการย่อย โดยมี นพ.สนั่น เป็นประธาน โดยหลักต้องจ่ายตามอัตราเต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีการเปิดเผยข้อมูลแต่ต้องระวัง ซึ่งทางสปสช.จะรีบจัดการ รวมถึงการพิจารณารื่อง Provider Board ตั้งอยู่ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายของ สปสช. พิจารณายกร่างและเสนอเข้าบอร์ดภายใน 1 เดือน สัดส่วนก็ควรมีภาคประชาชน และเครือข่ายแพทย์ รวมถึง รพ.สต.ถ่ายโอน

ผู้แทนจากสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า ยังคงขึ้นป้ายเรียกร้องจนกว่าจะเห็นผลว่า มีการดำเนินการอย่างแท้จริง จะแก้ไขได้จริงหรือไม่ จะจ่ายเงินให้คลินิกบัตรทองได้เมื่อไหร่.