จากกรณี เกิดข้อพิพาทในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หลังพบมีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร โดยพบว่า มีหลักหมุด ส.ป.ก. ปักอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาทางเจ้าหน้าที่เขาใหญ่ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนจะสอบถามกลับไปยังสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ภายหลัง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ออกมาโต้แย้งกลางป่ากับฝ่าย ส.ป.ก. และตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนทางเจ้ากรมแผนที่ทหาร รับเป็นตัวกลางในการทำแผนที่ ONE MAP เพื่อตัดสินว่าที่ผืนป่าดังกล่าว เป็นแนวเขตของใครกันแน่ ตามที่ได้รายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยในรายการ DAILYNEWS TODAY ทางช่อง ยูทูบ DailynewsOnline เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ตนลงพื้นที่ที่มีการแจ้งดำเนินคดีไว้ โดยพบว่าเป็นป่าโดยธรรมชาติ ถ้าเช็กจากภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อปี 10 ก็ยังไม่พบว่ามีการทำประโยชน์มาก่อน ลักษณะแปลงที่ออก ก็มีการเข้าไปรับไถต้นไม้ทำเส้นทางและมีการปรับพื้นที่โล่ง ๆ ในบางส่วน มีหลักแนวเขตอุทยานที่ยังสมบูรณ์อยู่ และที่ถูกทำลายหักล้มลงจากการปรับทำถนน ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ที่เราทำเป็นถนนตรวจการณ์ แสดงขอบเขตของอุทยานไว้ด้วย

“…ดูจากในเบื้องต้น ถ้าดูจากข้อเท็จจริงแล้วพบว่าไม่มีกลุ่มบุคคลเข้ามาทำประโยชน์อย่างจริงจังต่อเนื่อง ถือเป็นประเด็นข้อมูลหนึ่ง ที่เราจะใช้ไปนำประกอบข้อชี้แจง นอกเหนือจากข้อมูลหลักหมุดที่อยู่ในแนวเขตอุทยาน ซึ่งตรงนี้ต้องมีการตรวจสอบร่วมกับทาง ป.ป.ช. และ ส.ป.ก. ว่า บุคคลที่กล่าวอ้างมาเป็นผู้ขอออก ส.ป.ก.4-01 นั้นเป็นใคร มีคุณสมบัติหรือไม่อย่างไร คงต้องตรวจสอบต่อไป…” นายอรรถพล กล่าวและเผยต่อว่า

เรื่องหลักหมุดเจ้าปัญหา เจ้าหน้าที่ไปเจอเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางหัวหน้าเขาใหญ่ได้คัดค้านฝ่าย ส.ป.ก. มาตั้งแต่แรก โดยมีการประสานไปยัง ส.ป.ก. แล้ว แต่กลับไม่ยอมมาชี้แนวเขต ทำให้ต้องออกเอกสารออกมา ก่อนนำเรื่องเข้าแจ้งความดำเนินคดี ในส่วนของการสำรวจพื้นที่ วานนี้ (18 ก.พ. 67) มีการแผ้วถางไปแล้ว 3 ไร่ รวมพื้นที่ที่ตัดถนนเข้าไปและพื้นที่โล่ง แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่เขาจะเข้าครอบครองจริง จะมีมากกว่านั้น และยังทราบมาว่ามีแปลงที่เตรียมจะเข้าครอบครองอีก 2 พันกว่าไร่ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม แม้จะเป็นโครงการปลูกป่าของกรมป่าไม้ แต่ก็ยังมีต้นไม้อยู่ โดยเฉพาะต้น “สีเสียดแก่น” ที่มีอายุเกือบ 50 ปี ก็มี ส่วนถนนเส้นนี้ตัดมาตั้งแต่ปี 35-37 วิญญูชนทั่วไปพบเห็นทางซ้ายเป็นป่าหมดแล้ว ก็น่าจะรู้ได้ว่าเป็นป่าอุทยาน แต่ยังไม่มีการโยงสายไฟในพื้นที่

ด้านมาตรการในการป้องกันนั้น นายอรรถพล ระบุว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ได้มีการขัดแย้งกัน เพียงแต่ต้องคุยกัน เพราะเรื่องนี้ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่มากกว่า ว่าเข้ามาทำโดยชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งตรงนี้ได้มีหน่วยงานกลางเข้ามาแล้ว โดยตนประสานทาง เลขาฯ ป.ป.ช. ไว้แล้ว ว่าขอให้เชิญ 2 หน่วยงานมาพูดคุยกัน ในเรื่องของมาตรการต่าง ๆ หลังจากนี้ รวมไปถึงหลักเกณฑ์ของการสำรวจ สอบสวนเรื่องสิทธิ ที่เกี่ยวกับพื้นที่ใกล้เคียงพื้นที่ป่า หรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อาจจะต้องมีการวางหลักเกณฑ์วางแนวเขต เป็นเหมือนบันทึกข้อตกลง เป็นกติกาที่ทำร่วมกัน เพราะถ้าไม่มีการระวางแนวเขต ก็จะเกิดทับซ้อนที่ดินของรัฐกันอีก

“การหารือในการระวางแนวเขต เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ จะต้องทำการตกลงร่วมกัน พื้นที่ติดกันต้องมีการรับรองแนวเขต ระวางชี้แนวเขต” นายอรรถพล กล่าวย้ำ

สำหรับขั้นตอนหลังจากหารือกันเมื่อวานแล้ว กรมแผนที่ทหารจะเข้ามาดูว่าวางแนวเขตกันแต่ไหน มาพิสูจน์ความถูกต้องว่าขอบเขตมันแค่ไหน แต่อย่างที่บอก เราไม่ได้ดูแค่แนวเขตอย่างเดียว แต่ดูเรื่องการทำประโยชน์ด้วย ไม่ได้หมายความว่า ถ้าอยู่ในเขตปฏิรูปแล้วเป็นป่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย แต่ไปออกให้ ก็ไม่น่าจะถูกต้อง นอกจากนี้ ยังต้องดูเงื่อนไขของคุณสมบัติของคนที่จะได้รับสิทธิ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ว่าคนรับสิทธิเป็นคนทำมาหากินอยู่แถวชุมชนบริเวณนั้นหรือเปล่า