สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ว่า รัฐบาลปักกิ่งพึ่งพาถ่านหินและน้ำมันเป็นอย่างมาก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในปริมาณมหาศาล อีกทั้งการอนุมัติและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มากขึ้น ยังสร้างความกังวลเช่นกัน

อนึ่ง จีนตั้งเป้าหมายด้านสภาพอากาศหลายเป้าหมาย ตามส่วนหนึ่งของแผนระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ระหว่างปี 2564-2568 ซึ่งรวมถึงการลดความเข้มข้นของคาร์บอน 18% จากระดับของปี 2563 ในช่วงเวลานี้

ตามการวิเคราะห์ของนายลอรี มิลลีเวอร์ตา หัวหน้านักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (ซีอาร์อีเอ) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระในกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และนักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจันนโยบายแห่งสมาคมเอเชีย (เอเอสพีไอ) การบรรลุเป้าหมายข้างต้นนั้น หมายความว่า จีนต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4-6% ภายในปี 2568 จากระดับในปี 2566

อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านพลังงานและสภาพอากาศของจีน ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของโลก และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคส่วนพลังงานของประเทศ ก็เพิ่มขึ้นถึง 5.2% เมื่อปีที่แล้ว และสูงขึ้น 12% ระหว่างปี 2563-2566

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ซึ่งอ้างอิงจากตัวเลขอย่างเป็นทางการ และข้อมูลเชิงพาณิชย์ เผยให้เห็นว่า ความต้องการไฟฟ้าในจีน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ยังกระตุ้นความต้องการพลังงานถ่านหินในปี 2566 ขณะที่การฟื้นตัวจากนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของรัฐบาลปักกิ่ง ผลักดันความต้องการน้ำมัน

ด้านมิลลีเวอร์ตา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความเข้มข้นของคาร์บอน จีนยังมีความเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายสำคัญด้านสภาพอากาศอื่น ๆ ในปี 2568 ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงคำมั่นที่จะจำกัดอุปสงค์ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นอย่างเข้มงวด และควบคุมกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่อย่างคร่งครัด ตลอดจนเป้าหมายด้านความเข้มข้นของพลังงาน และส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียน ในความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น.

เครดิตภาพ : AFP