น.ส.สุวรรณี วังกานต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรเป็นประจำทุกปี เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านประชากรและสังคมของผู้ย้ายถิ่น สำหรับนำไปใช้ในการติดตามสถานการณ์การย้ายถิ่นของประชากร ซึ่งผลสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรปี 66 ผลสำรวจพบว่า ภาพรวมสถานการณ์การย้ายถิ่นในปี 66 มีผู้ย้ายถิ่นจำนวน 9.82 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.73 แสนคน คิดเป็น 1.4% ของประชากรทั้งประเทศ (70.09 ล้านคน) โดยภาคกลางมีผู้ย้ายถิ่นมากที่สุด 4.70 แสนคน หรือ 2.2% ของประชากรในภาคกลาง และกรุงเทพมหานครมีผู้ย้ายถิ่นน้อยที่สุด 5.8 หมื่นคน หรือ 0.6% ของประชากรในกรุงเทพฯ โดยผู้ย้ายถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ปัจจุบันมี 21.4% นอกนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดอื่น สูงถึง 41.7%  และอยู่ภายในจังหวัดที่อยู่ปัจจุบัน 26.3%

สำหรับสาเหตุหลักของการย้ายถิ่น พบว่า ผู้ย้ายถิ่นด้วยสาเหตุด้านการงาน เช่น หางานทำ หน้าที่การงาน หรือต้องการเปลี่ยนงานมีจำนวนมากที่สุด 3.74 แสนคน หรือ 38.1%  รองลงมา คือ ด้านครอบครัว เช่น ติดตามคนในครอบครัว และทำกิจกรรมครอบครัว จำนวน 2.01 แสนคน หรือ 20.4%  และด้านอื่น ๆ เช่น ย้ายที่อยู่อาศัย กลับภูมิลำเนา ศึกษาต่อ ฯลฯ จำนวน 4.07 แสนคน หรือ 41.4%  ตามลำดับ

น.ส.สุวรรณี กล่าวต่อว่า ภาคกลางมีเปอร์เซ็นต์ผู้ย้ายถิ่นสูงกว่าภาคอื่น ๆ ด้วยเหตุผลหลักในด้านการงาน ได้แก่ หางานทำ หน้าที่การงาน และต้องการเปลี่ยนงาน ส่วนรูปแบบการย้ายถิ่นเป็นการย้ายมาคนเดียว โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนอกจากนี้ยังพบว่าผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน 

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการให้รองรับกับจำนวนประชากรที่มีอยู่จริง เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาจากการย้ายถิ่นของประชากร เช่น ปัญหาความแออัดของที่อยู่อาศัย ปัญหาด้านการให้บริการสาธารณสุข และการบริหารจัดการสาธารณูปโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร และควรมีการวางแผนกระจายแหล่งอุตสาหกรรม ธุรกิจ การค้าต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด จะได้ไม่ต้องมีการย้ายถิ่นของประชากรเพื่อเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรม