คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมกับจังหวัดนนทบุรี และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวนนทบุรี จับมือกันเพื่อเปิดมุมมองใหม่การท่องเที่ยวเกาะเกร็ด ด้วยภาพลักษณ์ เกาะแห่งศิลปะและงานคราฟท์ มีพิธีเปิดงาน Ko Kret International Art and Craft Festival 2024 ร่วมกับโครงการ 9th International Art and Design Workshop KMUTNB 2024 ของคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา จัดพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่โดยมี คุณสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย คุณปาณิสรา กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี คุณสุริยัน บุญยมโนนุกุล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวนนทบุรี คุณชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานกรุงเทพมหานคร โดยมีคณะศิลปินและนักออกแบบทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวม 80 คน จาก 7 ประเทศ ร่วมรังสรรค์งานศิลป์ บนเกาะเกร็ดให้เป็น แกลลอรี่ ที่มีชีวิต ด้วยแนวคิด “จากตัวตนที่เรามี ให้โลกรู้ว่าเรามีตัวตน”

รองศาสตราจารย์ ดร.ธนา อนันต์อาชา คณบดีคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่ผ่านมาได้ดำเนินการส่งเสริมการเรียนการสอน เพื่อการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผ่านกิจกรรม International Art And Design Workshop KMUTNB ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 8 ครั้ง โดยครั้งนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 โครงการนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนนทบุรี ที่เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมริมสายน้ำเจ้าพระยา เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนามุ่งสู่การเป็น “เมืองน่าอยู่” ตามสโลแกน “วิถีน้ำ วิถีนนท์” ที่ยังคงวิถีไทย ชนบทคู่ขนานไปกับการพัฒนาเมือง ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เกาะเกร็ด” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทุนทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ที่หลายหลาย มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และงานหัตถศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์และมีเสน่ห์ ด้วยแนวคิด From Local To Global “จากตัวตนที่เรามี ให้โลกรู้ว่าเรามีตัวตน” โดยในปีนี้เราย้ายมาจัดที่เกาะเกร็ด ชุมชนที่มีเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์งานเครื่องปั้นดินเผา ในระดับที่เป็นสินค้า GI ของจังหวัดนนทบุรี สำหรับกิจกรรมในปีนี้แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มกิจกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การจัดแสดงผลงานศิลปะ จากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินไทย และศิลปินนานาชาติที่เข้าร่วมงาน โดยในปีนี้ Theme หลักจะเน้นที่การจัดแสดงงาน Ceramic กลุ่มที่ 2 การทำ Work Shop ต่างๆ เพื่อถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่นักเรียนและนักศึกษาในท้องถิ่น อาทิ การทาผ้าบาติกด้วยเจลเย็น การทำเครื่องประดับจากเครื่องปั้นดินเผา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ การทำกระถางจากเศษวัสดุจากทางเกษตรนนทบุรี กลุ่มที่ 3 การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปะให้แก่ชุมชนท้องถิ่น หรือ Craft Clinic เพื่อให้เกิดการพัฒนางานและเรียนรู้ ซึมซับองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งสองทาง สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนท้องถิ่น มุ่งหวังให้สินค้าหัตถกรรมของท้องถิ่นเกิดการพัฒนา สร้างสรรค์ทั้งในเชิงรูปแบบและคุณภาพ สร้างรายได้และกระจายโอกาสได้มากยิ่งขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.ธนา กล่าว.

คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ. ยังคงสานต่อความร่วมมือในงานศิลปะทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อให้นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบมีเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต่อยอดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการขยายขอบเขตแนวคิดทางด้านสถาปัตยกรรมอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมต่อยอดงานศิลปะใหม่ในอนาคต