เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวย้ำสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม “กรณีเจ็บป่วย” ได้รับความคุ้มครองด้วยการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทุกโรค ทุกความเจ็บป่วย โดยผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน กว่า 267 แห่ง สะดวก ครบ จบ ในครั้งเดียว และผู้ประกันตนยังสามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลทุกขนาดตั้งแต่ปฐมภูมิถึงตติยภูมิ ที่อยู่ภายใต้การลงนามความร่วมมือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกเข้ารับการรักษาของผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่

ปี 2566 ที่ผ่านมา สปส. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ลดความเสี่ยงของโรค NCDs หรือโรคเรื้อรังให้กับผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกฯ และตั้งแต่ 1 เม.ย. 2567 นี้ ได้ปรับเพิ่ม รายการตรวจสุขภาพให้มีความถี่เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับปัจจัยด้านอายุและความจำเป็นในการตรวจ เช่น ให้ผู้ประกันตนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจน้ำตาล ไขมันในเลือด ตรวจการทำงานของไต ตรวจปัสสาวะ รวมถึงการตรวจ X-ray ตามหลักเกณฑ์อัตราที่กำหนด “ทุกปี” ซึ่งจะให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเท่านั้น เป็นการตรวจ “เสริม” จากการตรวจสุขภาพพื้นฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ให้คนไทยทุกสิทธิ

ทันตกรรม สามารถเข้าถึงการรักษาดูแลสุขภาพฟันในสถานพยาบาลหรือคลินิก ทั้งรัฐ เอกชน ได้อย่างสะดวก ทั้งในและนอกเวลาราชการ โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า และในปี 2667 นี้ สปส. ยังเพิ่มโครงการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ อำนวยความสะดวกในการรับบริการรักษาดูแลสุขภาพฟัน เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของผู้ประกันตน

เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาฟรี 72 ชั่วโมง ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน สำหรับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ รักษาฟรี 72 ชั่วโมง กรณีสถานพยาบาลเอกชน เบิกได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และให้สถานพยาบาลที่รักษาแจ้งสถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนให้รับผิดชอบดูแลรักษาตั้งแต่รับแจ้ง จนสิ้นสุดการรักษา โดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย

สำนักงานประกันสังคมได้มอบสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลอื่นๆ เช่น

  1. การปลูกถ่ายไขกระดูก (การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต) สำหรับการรักษามะเร็งโรคเลือด 8 ชนิด สิทธิประกันสังคมสามารถทำการปลูกถ่ายเซลล์ฯ ครอบคลุมทั้งวิธีการปลูกถ่าย โดยใช้เนื้อเยื่อตนเอง เนื้อเยื่อพี่น้องร่วมบิดามารดา และเนื้อเยื่อของผู้บริจาคผ่านสภากาชาดไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึงรายละ 1,300,000 บาท “ฟรี”
  2. สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือหัตถการในกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาของผู้ประกันตน จำนวน 5 โรค ประกอบด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี โรคมะเร็งเต้านม และก้อนเนื้อที่มดลูก ไปรับการผ่าตัดหรือทำหัตการที่ไหนก็ได้ ในโรงพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงาน ภายในระยะเวลา 15 วัน หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยหรือแพทย์ลงความเห็นว่าจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยลดการรอคอยการผ่าตัดหรือทำหัตการ ลดความเสี่ยงรวมถึงลดความรุนแรงของโรค
  3. เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่อง CPAP โดยจ่ายค่าอุปกรณ์เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) และค่าตรวจการนอนหลับ (Sleep test) สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งถือเป็นโรคที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนำมาซึ่งความอันตรายแก่ชีวิตอีกด้วย

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า จะเห็นได้ว่าสำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่องอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มโรค ทุกความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกันตน และทุกสิทธิการรักษาจะไม่ด้อยกว่าสิทธิการรักษาโรคในระบบการประกันสุขภาพอื่นของไทย ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจ และให้สิทธิประกันสังคมเป็นทางเลือกหลักในการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป.