เมื่อวันที่ 3 มี.ค. เวลา 15.00 น. ที่หอประชุมสารภี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา ตำบลแหลมทอง อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 9 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอนุชา อินทศร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา พลตรี อรรถชัย รักษาศีล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 21 นายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 32 อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี รวมจำนวน 127 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นทุกท่าน คือ ความหวังของประเทศชาติในการน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ความว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย ….ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ….. ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์ ….. อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย” ด้วยการไปถ่ายทอดเรื่องราวที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ให้แก่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ช่วยกันสืบทอดสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม โดยไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นรากเหง้าของพวกเรา

“เราต้องช่วยกันปลูกฝังบอกเล่าคุณงามความดีของบรรพบุรุษ ของวงศ์ตระกูล ของหมู่บ้าน ของประเทศชาติให้กับลูกหลานและคนในสังคมได้ตระหนักถึงสิ่งที่ดีงาม อันเป็นการ “สืบสาน รักษา” ดังปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เพราะคำว่า “สืบสาน” คือ การนำสิ่งที่ดีมาดำเนินการต่อ รวมถึงพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งความหมายที่สำคัญ คือ ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “แก้ไขในสิ่งผิด” เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ที่จะส่งผลให้ประชาชนมีความสุข เพราะการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ ดังนั้น การที่เราเลิกเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย วิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม เราก็สามารถนำกลับมาพูดคุย มาสอนได้ใหม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน มิใช่เพียงแต่หน้าที่ของครูผู้สอนในโรงเรียน จึงเป็นที่มาของการรับสมัครจิตอาสาผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 จากทุกภาคีเครือข่าย ทั้งพระสงฆ์ ครู ทหาร ตำรวจ ข้าราชการบำนาญ และประชาชนผู้สนใจ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เราทุกคน คือ ผู้ร่วมสืบสานพระราชปณิธานในการมุ่ง “แก้ไขในสิ่งผิด” ด้วยการทำให้การบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กลับมาเป็นสิ่งที่สร้างความดีงามให้กับสังคมไทย โดยพวกเราสามารถเชิญพระราชดำรัสองค์สำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงขยายความถึงคำว่า “ประวัติศาสตร์” พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา “LOVE CAMP” Leadership – Oneness – Volunteer – Expert หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียง ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “สมัยนี้คนไม่ค่อยชอบเรียนประวัติศาสตร์กัน คนไม่ค่อยคิดอะไรย้อนหลัง ไม่ได้สอนให้เป็นคนสมัยเก่าไดโนเสาร์อะไร แต่ความเป็นมา ความต่อเนื่อง… ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ทั้งที่ดี ทั้งที่ไม่ดี เราก็จะรู้ว่าอะไรมันดี อะไรเป็นประโยชน์ อะไรมันไม่ดี เพราะว่ามันมีของดี มันก็มีของไม่ดี มันมีของถูก มันก็มีของผิด ก็สำคัญที่ว่า จะเปิดใจศึกษาว่าอะไรมันถูก อะไรมันผิด อะไรมันเป็นประโยชน์ อะไรมันไร้ประโยชน์ แต่อย่างที่บอกว่าประวัติศาสตร์มีทั้งของเลวชั่วร้าย และก็มีทั้งของที่ดี..แต่ที่สำคัญเราต้องเอาบทเรียนมาใช้…” เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นกำลังใจในการทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวให้กับลูกหลานของพวกเราทุกคน ทำให้พวกเขาได้รับรู้ เข้าใจ ซาบซึ้ง และสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษ เพื่อจะได้เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและประเทศชาติบ้านเมือง ดังพุทธศาสนสุภาษิต “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตฺญูกตเวทิตา : ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี””เพราะพื้นฐานของคนดีต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณทุกคนที่สร้างคุณงามความดีให้กับพวกเราทั้งในฐานะส่วนตัวและส่วนรวม ตั้งแต่บรรพชนไทย บรรพบุรุษที่เสียสละชีวิต เสียสละเลือดเนื้อ เสียสละความสะดวกสบาย เพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยให้กับพวกเรา ตลอดรวมถึงผู้ใหญ่ในครอบครัว เพื่อผ่าทางตันวิกฤตทางความคิดของคนในสังคมปัจจุบันที่มักจะรู้สึกว่าคนมีพระคุณเพราะหน้าที่ เฉกเช่นในหลายประเทศที่เมื่อเด็กจบมัธยมก็ต้องหาเลี้ยงตัวเอง ความรัก ความผูกพันจากตายายพ่อแม่พี่น้องที่มีต่อลูกหลานจึงไม่เกิด แต่ครอบครัวคนไทยเราเชื่อมโยงผูกพันกันด้วยความรัก ความปรารถนาดี ด้วยหัวใจ เป็นสายใยแห่งความผูกพัน ซึ่งอีกประมาณเดือนเศษ คือ ช่วงวันที่ 13-15 เมษายน 2567 ซึ่งเป็น “วันสงกรานต์” หรือ “วันครอบครัว” พี่น้องคนไทยเราก็จะได้ร่วมกันกลับไปแสดงความกตัญญูกตเวที กลับไปแสดงความรัก ความเคารพนบนอบต่อบุพการีและบรรพบุรุษทั้งที่มีชีวิตอยู่และที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” จะทำให้คนมีความรักในครอบครัว ในชุมชน ในหมู่คณะ ในประเทศชาติ ประวัติศาสตร์จะทำให้คนซาบซึ้ง รักและหวงแหนความเป็นไทย คนหมู่บ้านเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน นามสกุลเดียวกันต้องรักและผูกพันกัน” นายสุทธิพงษ์กล่าว

“การบอกเล่าถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ประจำท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้รู้จักรากเหง้าและบุญคุณของบรรพบุรุษ ทำให้เกิดความกตัญญูกตเวที ทำให้เด็ก เยาวชน ลูกหลาน ได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ เกิดความเจริญงอกงามและความดีงามของผู้คนในสังคม อันจะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยภายหลังจากทุกท่านได้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว ทุกคนจะได้รับบัตรประจำตัววิทยากรจิตอาสาผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเป็นบัตรประจำตัวที่กระทรวงมหาดไทยออกให้เพื่อเป็นการรับรองในคุณวุฒิของทุกท่าน เพื่อไปทำหน้าที่ผู้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพราะกระทรวงมหาดไทยมีความคาดหวังสูงมากว่าพวกเราทุกคนจะไปช่วยกันทำให้อนาคตของชาติได้เป็นพลเมืองที่รู้จักบรรพบุรุษ รู้จักความเป็นมาของประเทศชาติ และทำให้เขาได้เกิดความรัก ความหวงแหน ความผูกพันกับประเทศชาติ ทำให้เขาได้พึงระลึกว่า อะไรไม่ดีก็ช่วยกันแก้ ไม่ใช่ตำหนิติเตียนหรือหนีปัญหา ไม่ช่วยกันแก้ไข และขอให้ทุกคนได้บอกกับตัวเองเสมอว่า “แม้ความดีทำยาก เพราะต้องใช้ความกล้า แต่เราทุกคนต้องช่วยกันทำ ต้องเริ่มที่ตัวเรา” ไปช่วยกันสร้างชื่อเสียง ทำให้สังคมดีงาม สังคมแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สังคมแห่งความเสียสละ แบ่งปัน เอื้ออาทร ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันนี้เป็นเรื่องของสิ่งที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น อนาคตก็ขึ้นอยู่กับวันนี้ ถ้าพวกเราช่วยกันทำวันนี้ให้ดี เราก็จะได้ช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ วันต่อไป และทุก ๆ วัน ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมให้ทุกคนได้มีพื้นที่ในการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ ทั้งในที่ประชุมกรมการจังหวัด กรมการอำเภอ และหอกระจายข่าวหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ นอกเหนือจากการบอกเล่าให้กับลูกหลานในโรงเรียน ในชุมชน” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวอีกว่า ในเชิงระบบ ขณะนี้ นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้มีหนังสือแจ้งทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้โรงเรียนในสังกัดเปิดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม ตั้งแต่เทอมแรกของปีการศึกษา 2567 รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหารือการให้สถานศึกษาได้ใช้เวลาช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ส่งเสริมองค์ความรู้สิ่งเหล่านี้ให้เด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ได้เรียนรู้อย่างน้อยรวมสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง ทำให้ลูกหลานของเราได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” เพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อีกด้วย “ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นเป็น “ทหารเสือของพระราชา” ผู้ปราบอวิชชา คือ ความไม่รู้ของผู้คนในสังคม เพื่อก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เพื่อเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์กล่าว