เมื่อวันที่ 7 มี.ค. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตอบ 2 กระทู้ ที่ตั้งถามโดยนายศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาคลอง 30 เมตร อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และนายภัณฑิล น่วมเจิม สส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ถามเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาน้ำเสีย บริเวณคลองหัวลำโพง ตลาดคลองเตย เขตคลองเตย กทม. โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม  

พล.ต.อ.พัชรวาท ชี้แจงกระทู้ของนายศาสตราว่า กระทรวงทรัพยากรฯ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรับและเบิกจ่ายงบประมาณ ได้โอนงบประมาณให้กับเทศบาลนครหาดใหญ่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของเทศบาลนครหาดใหญ่ ในการบริหารสัญญากับคู่สัญญา ที่ผ่านมา เมื่อเกิดความล่าช้า กระทรวงฯ ได้เคยทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 พร้อมกับกำชับให้เทศบาลนครหาดใหญ่ รายงานความคืบหน้าและรายงานปัญหาอุปสรรค อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถแก้ไขปัญหา อาจจะมีมาตรการชะลอการตั้งคำของบประมาณสำหรับปีถัดไป ขึ้นบัญชีรายชื่อเทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความล่าช้าในการดำเนินงานโครงการฯ ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อการเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในครั้งต่อ ๆ ไป จนกว่าโครงการเดิมจะแล้วเสร็จ และที่สำคัญ ให้เทศบาลนครหาดใหญ่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนในสัญญาเกี่ยวกับค่าปรับ เพื่อเป็นการประกันให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามสัญญาให้ถูกต้อง และอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ หากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จในปี 2567 ตามสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับตามกำหนด 

ทั้งนี้ ยังได้ชี้แจงกระทู้ของนายภัณฑิล ว่า ตลาดคลองเตยถึงคลองพระโขนง เนื้อที่ประมาณ 3,500 เมตร ซึ่งอยู่บนพื้นที่กรรมสิทธิ์ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และอนุญาตให้สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ใช้เป็นทางระบายน้ำ และพบว่ามีแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่มาจาก ตลาดคลองเตย 8 ชุมชนโดยรอบ บ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง ทำให้มีการทิ้งขยะ การระบายน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลลงสู่คลองหัวลำโพงโดยตรง ส่งผลให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และเกิดการตื้นเขินของคลอง 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรฯ โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้เข้าร่วมดำเนินโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองหัวลำโพง ซึ่งมี กทม. เป็นหน่วยงานหลัก โดยได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย และมีการดำเนินการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาน้ำเสียดังกล่าวแล้ว บางกิจกรรมแล้วเสร็จ และบางกิจกรรมอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองและแหล่งกำเนิดมลพิษ พบว่าอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ถึงแม้ว่าค่าความสกปรก ในปี 2566 จะลดลงจากปี 2565 ซึ่งจะได้ติดตามและเร่งรัดการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของตลาดคลองเตย หากเข้าข่ายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ ทางกรมควบคุมมลพิษจะนำกฎหมายมาบังคับใช้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต่อไป 

“ขอขอบคุณ สส. ทั้งสองท่าน ที่ได้ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผมจะเร่งรัดการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน” รมว.ทรัพยากรฯ กล่าว.