เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กอธิบายเรื่องหุ้นไอทีวี ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 50 สปน. ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ต่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไอทีวีไม่สามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมได้นับแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน แต่กรณีดังกล่าวยังคงเป็นข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างไอทีวีกับ สปน. จากการบอกเลิกสัญญาพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสถานะความเป็นสื่อมวลชนของไอทีวีสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 50 นับแต่นั้นมา วันที่ 16 มี.ค. 50 ศาลแต่งตั้งให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกของบิดา และตนได้รับมอบหมายจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของบิดาให้รับโอนหลักทรัพย์หนึ่งคือหุ้นไอทีวี

นายพิธา ระบุต่อว่าต่อมาปี 57 หุ้นไอทีวีถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นผลให้ไม่สามารถซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกต่อไป หุ้นตัวนี้ เป็นหนึ่งในหุ้นอันเป็นกองมรดกของบิดาที่ตนถือครองแทนทายาทอื่น เมื่อเข้ามาทำงานการเมืองในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ก็ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

“ในช่วงเวลาปัจจุบันกลับมีความพยายามฟื้นคืนชีพให้ไอทีวี กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงานผม ผมจะยกข้อมูลตามแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของไอทีวี เช่น ปีบัญชี 61-62 ระบุประเภทธุรกิจว่า กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก ปีบัญชี 63-64 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ ส่วนในปีบัญชี 65 ระบุประเภทธุรกิจว่าสื่อโทรทัศน์ โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่าสื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน เนื้อหาในหมายเหตุงบการเงินไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาตามที่ระบุประเภทธุรกิจไว้แต่อย่างใด โดยงบการเงินปีบัญชี 65 มีการนำส่งงบการเงินต่อ DBD ในวันที่ 10 พ.ค. 66 ก่อนวันเลือกตั้ง เพียง 4 วัน แสดงให้เห็นว่า การจัดทำแบบนำส่งงบการเงินและข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินมีพิรุธที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุในแบบนำส่งงบการเงิน แก้เป็นสื่อโทรทัศน์ ทั้งที่ประกอบกิจการไม่ได้ และปีล่าสุดแก้เป็นสื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งๆ ที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้”

นายพิธา ระบุต่อว่า และในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 66 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางรายว่าบริษัท ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่ขอให้ทุกท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาว่า เป็นคำถามมีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ และให้ท่านตอบตัวท่านเอง ว่านี่คือพฤติการณ์ความพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวี ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน ใช่หรือไม่ ด้วยข้อพิรุธหลายประการที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ตนตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้ตนถือครองหุ้นไอทีวี ซึ่งเป็นมรดกของบิดาไว้แทนทายาทอื่น จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ตนจัดการแบ่งมรดกหุ้นไอทีวีให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัทไอทีวีที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดังข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้น

“หากศาลรัฐธรรมนูญเดินตามแนวคำวินิจฉัยที่ผ่านมา และรักษาความเป็นเอกภาพในการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เรื่องนี้ ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่า ผมไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกฯ สำหรับข้อพิจารณาว่า บรรทัดฐานตามคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ ลต สสข 24/2566 คดีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ และคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดหลายคดี อาจไม่ก่อผลผูกพันทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยตามบรรทัดฐานเดียวกันก็ตาม แต่การรักษาความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมายเป็นเครื่องค้ำจุนความยุติธรรมของนิติรัฐ เพื่อมิให้การใช้การตีความก่อให้เกิดผลประหลาดในระบบกฎหมาย ฉะนั้น เพื่อดำรงไว้ซึ่งความแน่นอนชัดเจนในระบบกฎหมาย และรักษาครรลองการใช้การตีความกฎหมายให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 101 (6) ศาลรัฐธรรมนูญพึงรักษาความเป็นเอกภาพในการใช้และตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเดียวกันให้เป็นมาตรฐานของระบบกฎหมายในอารยประเทศ”

นายพิธา ระบุต่อไปว่า มั่นใจว่าก่อนที่ตนจะดำเนินการโอนหุ้นไอทีวีนั้น บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ ตนมั่นใจข้อเท็จจริงในอดีต แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ตนไม่อาจคาดหมายได้ว่า บริษัทไอทีวีจะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด ขอยืนยันทุกท่านว่า ตนพร้อมเต็มที่อย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด จากนี้ ตนจะเดินหน้าทำงานเตรียมการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่มีพิธาเป็นนายกฯ ให้สำเร็จจงได้ในที่สุด ไม่มีใครหรืออำนาจไหน มาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ถึงกว่า 14 ล้านเสียง ได้อีกแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าวันนี้ (6 มิ.ย.) นายพิธาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จี้ กกต. สอบการขายหุ้นไอทีวี ชี้แม้ขายแล้ว แต่ไม่ทำให้พ้นผิดและท้าขอให้เปิดข้อมูล ว่าตนไม่คิดจะเป็นประเด็นอะไร เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา เรื่องที่ต้องชี้แจงทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องหุ้นไอทีวี ก็เป็นไปตามที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก แต่จุดตัดอยู่ที่อนาคตมีโอกาสที่ไอทีวีจะฟื้นฟูกลับมาทำธุรกิจต่อ

“หลายคนก็ออกมาบอกว่า มีความพยายามสกัดกั้นผมออกจากการเมือง ผมได้ยินอย่างนี้ แน่นอนว่าต้องกังวล เพราะอดีตกับอนาคตไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าอดีตก็คืออดีต แต่ในอนาคตมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังนั้นต้องมีความแน่นอน เพื่อให้ตั้งรัฐบาลให้ได้”

เมื่อถาม ว่าจะกระทบคุณสมบัติการเป็น ส.ส. หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องดูในรายละเอียด แต่รอทาง กกต. ประสานมา ตนจะได้ชี้แจง เพราะไม่แน่ใจว่าสงสัยในประเด็นใด

เมื่อถามว่า มีรายงานว่า กกต. จะส่งหนังสือมาภายในสัปดาห์นี้พร้อมชี้แจงหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ใช่ เมื่อถามย้ำว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการโอนหุ้นเป็นการปัดเรื่องให้พ้นตัวหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เป็นการโอน เพื่อป้องกันอนาคต ในการฟื้นคืนชีพไอทีวี

“โอนเพื่อป้องกันว่า ในอนาคตจะมีการฟื้นคืนชีพไอทีวี ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจของเขา หรือเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองในการสกัดกั้นผม เพราะฉะนั้นเราต้องป้องกันความเสี่ยงตรงนี้ เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้” นายพิธา กล่าว