เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายซูไฮมี มีนา ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน อบต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ว่าขณะนี้ “ดอกบัวผุด” หรือ “บูงอเกะมอร์” (ภาษามลายู) กำลังเติบโตและผลิดอกบานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบในพื้นที่ป่าบ้านนากา ต.อัยเยอร์เวง ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้

สำหรับ “บัวผุด” เป็นกาฝากชนิดหนึ่งอาศัยเถาวัลย์ หรือ รากของพืชจำพวกสกุลเครือเขาน้ำ ซึ่งจะเลื้อยลงดินด้วยน้ำหนักของดอก เมื่อดอกโตและบาน จึงดูเหมือนกับว่าดอกผุดออกมาจากดิน ลักษณะเด่นคือ จะมีดอกที่ใหญ่ ออกเป็นดอกเดี่ยว องค์ประกอบของดอกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ภายนอกสุดเรียกว่า “กลีบดอก” มีลักษณะอวบน้ำเป็นสีแดงเข้มจำนวน 5 กลีบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 50-60 เซนติเมตร ถัดมาคือกำบังดอกสีแดง เป็นส่วนที่ล้อมรอบใจกลางดอก และส่วนสุดท้ายคือ จานกลางดอกและหนาม มีแผ่นแบนคล้ายจานสีแดงสด มีปุ่มคล้ายหนามขึ้นอยู่ตรงกลาง หนามจะทำหน้าที่กระจายความร้อนและส่งกลิ่นเหม็นออกมา โดยมีกำบังดอกช่วยทำให้กลิ่นเหม็นเน่าภายใน ไม่ฟุ้งกระจายไปไกล เพื่อล่อแมลงชนิดต่าง ๆ อาทิ แมลงวัน แมลงวันหัวเขียว ผึ้ง ชันโรง ให้มาตอมดอก เพื่อช่วยแพร่ละอองเรณูของเกสรตัวผู้ที่อยู่กันคนละดอกไปผสมเกสรตัวเมีย ดอกบัวผุดใช้เวลาตั้งแต่เป็นดอกตูม กว่าจะกลายเป็นดอกบาน นานประมาณ 8-9 เดือน แต่เมื่อดอกบานแล้วจะอยู่ได้เพียง 4-5 วันเท่านั้น และบางดอกก็บานได้ถึง 5-7 วัน หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ เหี่ยวเฉา เปลี่ยนเป็นสีดำและเน่าเปื่อยหลุดออกจากลำต้นในที่สุด ในเวลา 2 อาทิตย์

นายซูไฮมี บอกด้วยว่า พื้นที่บ้านนากอแห่งนี้ เดิมทีเคยเป็นค่ายของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) ในสมัยก่อน และก่อนจะย้ายค่ายไปอยู่ที่อื่น ได้บอกกับชาวบ้านในพื้นที่ว่า มีดอกบัวผุดในผืนที่ป่าแห่งนี้ ขอให้ช่วยกันอนุรักษ์ป่า เนื่องจากบัวผุด เป็นพืชเปราะบางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก ขยายพันธุ์ได้ยาก และต้องอาศัยเป็นกาฝากที่อยู่ในป่าดิบชื้นเท่านั้น และชาวบ้านบางส่วนนิยมนำดอกตูมมาต้มน้ำดื่ม ด้วยความเชื่อว่า จะช่วยทำให้หญิงมีครรภ์คลอดง่าย ทางกลุ่มเยาวชนบ้านนากอ จึงต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ให้ช่วยกันอนุรักษ์บูงอเกะมอร์ หรือ ดอกบัวผุด เพื่อให้เยาวชนและนักท่องเที่ยว ได้ศึกษาเรียนรู้ ผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของตำบลอัยเยอร์เวงต่อไป.