ภายหลังประชาชนและสังคมเรียกร้องว่าเมื่อไร? ประเทศไทยจะมีระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ หรือ “เซลล์ บรอดแคสต์” (Cell Broadcast) เพื่อสามารถแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดอย่างทันท่วงที!! เหมือนอย่างในต่างประเทศ?

แต่ถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่อง “เพ้อฝัน” อีกต่อไป เมื่อประเทศไทย กำลังจะมี เซลล์ บรอดแคสต์ เพื่อใช้แจ้งเตือนให้กับประชาชนกันแล้ว!!

เมื่อทางรัฐบาล โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งทาง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) ก็ได้กำหนดเรื่อง “เซลล์ บรอดแคสต์” เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีนี้

ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ให้บริการมือถือ ก็ได้ร่วมกับ “เอไอเอส” ทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ ด้วยระบบ “Cell Broadcast Service”

“นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บอกว่า  “ตอนนี้ผู้ให้บริการมือถือ ถือว่ามีความพร้อมในเรื่องระบบว่าสามารถทำได้  ตอนนี้อยู่ที่ศูนย์บัญชาการ สั่งการเตือนภัย  ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาล และ นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้หารือและตัดสินว่าจะให้หน่วยงานใด ทำหน้าที่ศูนย์บัญชาการสั่งการเตือนภัย  ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือนต่อจากนี้จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ รวมถึงการแจ้งเตือนภัย ต้องมีกี่ภาษา เพื่อใช้สำหรับนักท่องเที่ยวประเทศต่างๆ ในไทยด้วย”  

อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญ ในการตั้ง ศูนย์บัญชาการสั่งการเตือนภัย  นั้น คาดว่า จะต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประเทศไทยจะมี “เซลล์ บรอดแคสต์” ใช้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน!!

สำหรับ  “เซลล์ บรอดแคสต์” ที่ทางเอไอเอส ได้นำมาทดสอบนั้น การใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง โดย ฝั่งที่ 1  ดำเนินการและดูแลโดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชันต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator ) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ส่วนฝั่งที่ 2  ดำเนินการและดูแลโดยผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)  

ภาพ pixabay.com

สำหรับการแจ้งเตือนหากเป็นการแจ้งเตือน แผ่นดินไหว และสึนามิ การแจ้งเตือนเป็นป๊อปอัปรูปภาพขึ้นมา แจ้งเตือนบนโทรศัพท์มือถือ ขณะที่หากเป็นการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ก็จะแจ้งเตือนเป็นข้อความขึ้นมา

ด้าน “วรุณเทพ วัชราภรณ์”  หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส บอกว่า ระบบเทคโนโลยีที่นำมาใช้ถือเป็นระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล ที่ประเทศต่างๆ ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐและยุโรป ใช้  นั่นคือ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ซึ่งระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง ที่อยู่ในพื้นที่ ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้นๆ ในเวลาเดียวกัน  

ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยการทดลอง ทดสอบถือว่า ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป

ภาพ pixabay.com

ข้ามมาอีกฝั่งโอเปอเรเตอร์ คือ “ทรู คอร์ปอเรชั่น”  ผู้ให้บริการ “ทรู” และ “ดีแทค” ก็ได้ระบุว่า ได้ทดสอบ “Cell Broadcast” ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านจอมือถือแบบเจาะจงพื้นที่เกิดภัยพิบัติสำเร็จเช่นกัน โดยได้ร่วมมือกับ กระทรวงดีอี สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นการเตือนภัย อาทิ ภัยแผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ภัยน้ำท่วม เป็นต้น เพื่อช่วยป้องกันอันตรายในเรื่องชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ระบบแจ้งเตือนภัย สามารถส่งผ่านข้อความบนหน้าจอมือถือ จากเสาสัญญาณมือถือทุกพื้นที่ทั่วไทย และยังสามารถส่งข้อความเจาะจงพื้นที่เฉพาะที่เกิดเหตุและสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที  

“ข้อความเตือนจะส่งไปยังมือถือของลูกค้า ทุกเครื่องในพื้นที่ต้องการแจ้งเหตุ ซึ่งต่างจากระบบเอสเอ็มเอสทั่วไป เพราะระบบจะแจ้งเตือนทันทีแม้ปิดเครื่อง โดยจะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายให้ทราบพร้อมกันแบบรอบเดียว ทำให้ผู้ใช้งานมือถือทุกท่านทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ แค่มีมือถือเท่านั้น ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ สามารถได้รับการแจ้งเหตุทันที และสามารถรองรับ 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ด้วยการแจ้งเหตุเพียงครั้งเดียวเท่านั้น”

สำหรับ Cell Broadcast ของทรู สามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับ ตามฟังก์ชันการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย 1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น 3. การแจ้งเตือนเด็กหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหาย หรือการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์และรายงานถ้าพบคนร้าย

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น

และ 5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป

ถือว่า หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ให้บริการมือถือ มีความพร้อมในเรื่องระบบ คงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาล เคาะ “ศูนย์บัญชาการสั่งการเตือนภัย” ว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ดำเนินการ แต่หน่วยงานผู้ปฏิบัติยืนยันว่าภายในปีนี้ ไทยจะมี  “เซลล์ บรอดแคสต์” ใช้อย่างแน่นอน!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์