สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. จะเดินไปอย่างไร? กับ นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คนใหม่ ถือเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ในกระทรวงพลังงานที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan)ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (.. 2561-2580) แน่นอนว่าแผนนี้จะเป็นตัวชี้นำว่านโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยจะไปทิศทางไหน วันนี้เรามาติดตามกันว่า สนพ. ต่อจากนี้จะไปในทิศทางไหน นโยบายด้านพลังงานที่สำคัญต่อประชาชนจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง…?

  • แนวโน้มนโยบายพลังงานไทยในปัจจุบัน

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สำหรับพลังงานไทยในปัจจุบันนั้น จะเห็นได้ว่าทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่ “การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)” สำหรับประเทศไทยนั้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 70% นั้นเป็นการปล่อยจากภาคพลังงาน เพราะฉะนั้นภาคพลังงานปัจจุบันต้องมีการเปลี่ยนแปลง อะไรที่จะเข้ามาช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานได้บ้าง ต่อมาคือ “เทคโนโลยี” ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีด้านพลังงานเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ โดยเราจะเห็นว่าพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า การใช้พลังงานของประชาชนปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตอนนี้เราสามารถใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์ควบคุมการ เปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ เปิด-ปิดไฟฟ้า รวมทั้งสามารถดูค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนว่ามีเท่าไหร่ และสามารถบริหารค่าไฟฟ้าได้ นอกจากนี้เทคโนโลยีพลังงานได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับธุรกรรมโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ตอนนี้เรามีพลังงานหมุนเวียน ที่เพิ่มมากขึ้น ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ ซึ่งบริบทของเทคโนโลยีจึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทิศทางด้านพลังงานของประเทศ เพราะฉะนั้นนโยบายที่ สนพ. กำลังทำนั้นต้องดูว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เข้ามาเปลี่ยนแปลงทั้ง พฤติกรรม อุตสาหกรรม และโครงสร้างต่าง ๆ จะทำให้เราไปสู่ทิศทางที่เราต้องการได้อย่างไร นโยบายพลังงานจะขับเคลื่อนไปทางไหน

  • แผนงานหรือนโยบายที่สำคัญของ สนพ. ที่กำลังดำเนินการอยู่

ตอนนี้ทิศทางของเราพูดถึงพลังงานสะอาด เพราะฉะนั้น “แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan)” ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเป็นงานหลักที่ สนพ. มีความตั้งใจที่ผลักดันให้เกิดให้ได้ในปีนี้ แผนนี้จะเป็นตัวชี้นำว่าประเทศไทยเราจะไปทิศทางไหน โดยภายใต้แผนพลังงานชาติจะมีการพูดถึงว่า ด้านการบริหารจัดการ การจัดหาไฟฟ้า เพื่อรองรับกับความต้องการไฟฟ้าของประชาชน จะต้องมีการวางแผนอย่างไร เรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเราจะต้องมีมาตรการให้ประชาชนประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายหรือมีการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนไม่ใช่แค่ภาคไฟฟ้าอย่างเดียว ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมีการปรับตัว เนื่องจากมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เยอะ ๆ ต้องมีการมาดูกันว่าจะให้เขาทำอย่างไรในการปรับเปลี่ยนเรื่องการใช้พลังงานหนุมเวียน ส่วนภาคขนส่งนั้น เราจะเห็นว่าในอนาคตมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ดังนั้นเรื่องแผนด้านน้ำมันจะเป็นอย่างไร คงต้องดูภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำมัน รวมทั้งนโยบายที่จะส่งเสริมเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) เช่น เอทานอลกับน้ำมันเบนซิน และไบโอดีเซลกับน้ำมันดีเซล นอกจากนี้เรื่องแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศของเราก็กำลังลดลง เราต้องมีการจัดหาเพิ่มไหม จัดหาเพิ่มอย่างไร เช่น ต้องมีการจัดหาก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) หรือว่าเราจะต้องมีการนำเข้าในรูปแบบ LNG มากขึ้นไหม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแผนระยะยาวทั้ง 5 แผน ที่เราจะประกอบเป็นแผนพลังงานชาติ ซึ่งเป็นงานหลักของ สนพ. ที่ต้องผลักดันให้เกิดให้ได้ในปีนี้

  • อะไร? คือกลยุทธ์สำคัญในการทำงานที่จะการผลักดันนโยบายพลังงานสำคัญของประเทศให้เกิดขึ้น

กลยุทธ์สำคัญ ในการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้น คือ การทำให้นโยบายพลังงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชน” ซึ่งนโยบายที่เราคิดขึ้นมานั้นต้องมองถึงชีวิตของคนในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยิ่ง ดังนั้น นโยบายที่เราผลักดันต้องดูว่าประชาชนมีความต้องการอะไร นโยบายเป็นนโยบายที่ทำเพื่อประชาชน เพราะฉะนั้น “กลยุทธ์” คือนโยบายต่าง ๆ ที่เราทำต้องทำให้ประชาชนยอมรับ และให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำเกิดอะไรขึ้นต่อเศรษฐกิจ สังคม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลักสำคัญ เพราะฉะนั้นภาพนโยบายปัจจุบันที่ สนพ. ทำนั้น ต้องใช้ความมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เราคิดเองเออเอง ซึ่งต้องเห็นภาพว่าแต่ละกลุ่มผู้ใช้พลังงานต่าง ๆ มีความต้องการใช้พลังงานรูปแบบไหน เป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไร และประโยชน์ที่เขารับนั้นเอาไปช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศได้อย่างไร ดังนั้นนโยบายพลังงานของประเทศ ต้องเป็นนโยบายที่ไปสนับสนุนความต้องการของประชาชน และประชาชนต้องยอมรับในนโยบายนั้นด้วย

  • เป้าหมายสำคัญการทำงานในปีนี้

เป้าหมายสำคัญในปีนี้ คือ จะผลักดันแผนพลังงานชาติให้สำเร็จ โดยแผนนี้จะชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางไหน ซึ่งทุกองค์กร ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รอแผนพลังงานชาติให้เกิดขึ้น จริง ๆ แผนพลังงานชาติได้เริ่มมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่ถึงตอนนี้ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีทั้ง สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของไทย จึงทำให้การจัดทำแผนพลังงานชาติมีการหยุดชะงักไปช่วงนึง ซึ่งปัจจุบันเราได้รับทราบนโยบายพลังงานจากรัฐบาลชุดใหม่แล้ว สนพ. ก็ได้นำนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่มาปรับปรุง ทบทวนให้สอดคล้อง ซึ่งในปี 2567 นี้ อยากจะผลักดันแผนพลังงานชาติให้เกิดขึ้นให้ได้ นอกจากนี้ภาระกิจที่สำคัญก็มีเรื่องการจัดทำโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ ซึ่งตอนนี้ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้อยู่ระหว่างการเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดย สนพ. ก็ได้ช่วยสนับสนุนแนวทางในการที่จะปรับโครงสร้างราคาให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าในปีนี้ แผนพลังงานชาติ และโครงสร้างราคาพลังงานจะเป็นงานหลักที่ สนพ. จะต้องดำเนินการให้สำเร็จ

  • นโยบายพลังงานสำคัญที่ประชาชนน่าจะได้เห็นหลังจากนี้

กระทรวงพลังงาน เราดู 3 ส่วน คือ (1) ประเทศไทยต้องมีความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งพลังงานต้องมีเพียงพออย่างเช่น ไฟฟ้าห้ามดับ น้ำมันต้องมีเพียงพอ แม้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีปัญหาสงคราม หรือเหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมหรือมีภัยธรรมชาติ แต่พลังงานเราต้องพร้อมมีสำรองไว้สำหรับให้ใช้ได้ตลอดเวลา (2) ราคาพลังงานที่เป็นธรรม ราคาพลังงานจะต้องมีความเหมาะสมเป็นธรรม โดยจะต้องมีความสมดุลทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ไม่ใช่ว่าประชาชนได้ใช้ราคาถูกแต่ผู้ประกอบการแย่ หรือประชาชนใช้ของแพงแต่ผู้ประกอบการมีกำไรมากเกินไป ดังนั้นราคาพลังงานต้องเป็นธรรมทั้งต่อประชาชนและผู้ประกอบการ และ (3) สิ่งแวดล้อมที่สะอาด ซึ่งตอนนี้ทิศทางของนโยบายพลังงานของประเทศก็ได้มีการทบทวนและปรับปรุงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นปัจจัยหลักของกระทรวงพลังงานที่ใช้ในการวางแผนพลังงาน ดังนั้น ประชาชนได้ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ประชาชนได้ “ราคาพลังงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม” และประชาชนได้ “พลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนด้านพลังงาน และช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนต่อไป

#สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ
#เราสร้างสรรค์เพื่อทุกคน
#CreateTheFutureEnergy