นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สทนช. ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยแล้งจังหวัดจันทบุรีและตราด พบว่า ในพื้นที่ อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และ อ.เขาสมิง จ.ตราด มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเดิมและจำนวนประชากรที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น อีกทั้งรูปแบบการทำเกษตรเปลี่ยนไปจากอดีต ทำให้แหล่งเก็บกักน้ำเดิมอาจไม่สามารถรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้เพียงพอ อันจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงพื้นที่ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจเพื่อส่งออกของประเทศ เช่น ลำไย ทุเรียน เงาะ และมังคุด เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดทำแผนหลักรองรับการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัด ภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำจันทบุรีและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพลุ่มน้ำเมืองตราด โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 4 แห่ง พร้อมระบบกระจายน้ำ เพื่อป้องกันผลกระทบด้านน้ำและรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต

​สำหรับโครงการพัฒนาแหลงน้ำจังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญๆ ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาพูลทองพร้อมระบบส่งน้ำ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี มีความจุเก็บกัก 44.68 ล้าน ลบ.ม. และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองเครือหวายพร้อมระบบส่งน้ำ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ความจุเก็บกัก 14 ล้าน ลบ.ม. เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ได้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และที่สำคัญยังสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนให้การทำเกษตรไม้ผล โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกลำไย ซึ่งเป็นพืชส่งออกสำคัญของจังหวัดประมาณ 200,000 ไร่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2568 

ส่วนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพลุ่มน้ำเมืองตราด ประกอบด้วย   โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสะตอ  อ.บ่อไร่  จ.ตราด  ความจุเก็บกัก 57 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2569 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดิน นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง อ.บ่อไร่ จ.ตราด ความจุเก็บกัก 35 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ปลูกไม้ผลส่งออกสำคัญด้วยเช่นกัน เช่น ทุเรียน ลำไย รวมถึงพื้นที่เกษตรอื่นๆ ได้รวมประมาณ 98,000 ไร่

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า จ.จันทบุรี และ จ.ตราด อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งคาบเกี่ยวอาณาเขตประเทศกัมพูชา เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุก มีปริมาณน้ำท่ามาก และจะไหลออกนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุเกิดจากในพื้นที่ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งระบบการส่งกระจายน้ำไม่ทั่วถึง ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำทะเลรุกล้ำ ทั้งนี้ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง บริเวณจุดต้นน้ำ จะสามารถเก็บกักน้ำท่า ได้รวมทั้งสิ้น 125 ล้าน ลบ.ม. ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้อย่างไม่ขาดแคลนตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นการสร้างหลักประกันด้านน้ำสำหรับน้ำเพื่อการเกษตรในสวนผลไม้เศรษฐกิจได้ตลอดปีเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการส่งออกภาคเกษตร รวมไปถึงบรรเทาปัญหาน้ำหลาก และยับยั้งการรุกตัวของน้ำเค็มในพื้นที่ด้านท้ายน้ำได้อีกทางหนึ่งด้วย

“นอกจากนี้ สทนช. ยังได้เร่งประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อกระชับแผนป้องกันพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของทั้ง 2 จังหวัด เพื่อสามารถป้องกันและบรรเทาผลกระทบในช่วงฤดูแล้งนี้ให้ได้มากที่สุด พร้อมหารือแผนการใช้น้ำในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงด้วย รวมถึงการติดตามงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในอำเภอใกล้เคียงด้วย เช่น อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองแห้ง อ่างเก็บน้ำคลองขลุง เป็นต้น เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะอย่างเท่าเทียม และเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย