วานนี้ (9 ก.ค. 2565) ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของบริษัทเทสลา และ สเปซเอ็กซ์ กล่าวว่า เขาตัดสินใจที่จะยุติการตกลงเข้าซื้อกิจการของ ‘ทวิตเตอร์’ มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) โดยอ้างว่าบริษัทโซเชียลมีเดียชื่อดัง ได้ฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างกันในการซื้อกิจการหลายประการ

ด้าน เบรต เทย์เลอร์ ประธานกรรมการบริหารของ ทวิตเตอร์ โพสต์บนแพลตฟอร์มไมโคร-บล็อกกิง ภายในบริษัทว่า คณะกรรมการบริหารกำลังวางแผนที่จะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบีบให้อีกฝ่ายซื้อกิจการตามที่ตกลงไว้ก่อนหน้านี้

ตามเอกสารของทนายความตัวแทน มัสก์ ระบุว่า ทวิตเตอร์ ประสบความล้มเหลวหรือไม่ยินยอมที่จะทำตามข้อเรียกร้องหลายประการเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นบัญชีปลอมหรือสแปมบนแพลตฟอร์ม ซึ่งมีความสำคัญต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจ

มัสก์ ยังกล่าวเสริมว่า เขาต้องการล้มเลิกการซื้อกิจการครั้งนี้ เพราะ ทวิตเตอร์ ไล่ผู้บริหารระดับสูงและทีมงานชั้นเยี่ยมออกไปถึง 1 ใน 3 ของจำนวนทีมงานทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ ทวิตเตอร์ ละเมิดข้อกำหนดของตัวเองที่จะ ‘รักษาองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจองค์กรในปัจจุบันให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์’

พนักงานของ ทวิตเตอร์ หลายราย แสดงความตกใจและเหลือเชื่อที่มีการถอนข้อตกลงตามคำบอกเล่าของ มัสก์ เมื่อวันศุกร์ ด้วยการโพสต์ภาพมีมล้อเลียนเป็นภาพของรถไฟเหาะตีลังกาและภาพเด็กทารกกรีดร้องใส่โทรศัพท์ ซึ่งเป็นการพูดคุยเรื่องการหย่าร้างของพ่อแม่ พนักงานจำนวนมากแสดงความกังวลเนื่องจากการซื้อกิจการครั้งนี้ส่งผลกระทบต่ออาชีพการงานของพวกเขาโดยตรง โดยเฉพาะในแง่ของค่าจ้างและลักษณะการทำงานจากระยะไกล ซึ่ง มัสก์ เคยประกาศว่า ไม่สนับสนุนรูปแบบดังกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การที่ มัสก์ ทิ้งดีลการซื้อกิจการของ ทวิตเตอร์ และความพยายามของฝ่ายหลังที่จะบีบให้ มัสก์ ทำตามข้อตกลงในตอนแรก อาจส่งผลให้อนาคตและมูลค่าหุ้นของ ทวิตเตอร์ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะตกต่ำ บริษัทและคณะกรรมการบริหารจะต้องต่อสู้กับ มัสก์ ในศาลเป็นเวลายาวนาน เพื่อบีบให้เขาซื้อกิจการ หรือหากบริษัทแพ้คดี ก็จะได้รับเพียงค่าธรรมเนียมผิดสัญญามูลค่าขั้นต่ำที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35,850 ล้านบาท) เท่านั้น

เครดิตภาพ : Reuters