เมื่อวันที่ 30 ส.ค. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงกรณี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ระบุว่าอาจจะตีตกคำร้องเนื่องจากไม่มีการระบุชื่อ ส.ว. กับ ส.ต.ท.หญิง ว่าตนมีเอกสารว่า ส.ว. คนนี้ในสมัยที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการแต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิงเป็นผู้ช่วย สนช. และยังเสนอยศเป็น ส.ต.ท. อีกด้วย เมื่อมีปัญหาก็ย้ายไปเป็นข้าราชการตำรวจสังกัดสันติบาล แต่ได้รับเงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยง ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนหรือไม่ รวมถึงเอกสารการส่งไปอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรการปฏิบัติงานสนับสนุนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รุ่นที่ 6 สถาบันพระปกเกล้าฯ อีกทั้งยังส่ง ส.ต.ท.หญิงคนนี้ไปปฏิบัติที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จริง ซึ่งเอกสารเหล่านี้พล.อ.สิงห์ศึก สามารถตรวจสอบตามเอกสารเหล่านี้ จะรู้ได้อยู่แล้วว่าเป็นใครที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นการจะหาทางตีตกคำร้องของตนเพียงแต่อ้างว่าไม่ระบุชื่อว่าให้ตรวจสอบ ส.ว.คนไหน นั้น ฟังไม่ขึ้น แค่ไปตรวจตามเส้นทางของเอกสารเหล่านี้ที่ยังเก็บไว้ในสำนักเลขาฯ วุฒิสภา ก็ทราบแล้วว่าเป็นใคร ใครเป็นคนเซ็น เหมือนประชาชนไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ก็ไม่จำเป็นไปบอกชื่อผู้ต้องหา เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะแสวงหาความจริง แต่ขณะเดียวกันตนจะรวบรวมหาพยานหลักฐานเพื่อหาตัว ส.ว.คนนี้ เพราะยังไม่ทราบว่า ส.ว.คนนั้นเป็นใครเช่นกัน แต่หากอยากทราบว่าเป็นใครให้ไปถาม พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. หัวหน้าพนักงานสอบสวน ส.ต.ท.หญิงคนดังกล่าว ซึ่งสอบสวนเรียบร้อยแล้ว

“ถ้าจะมีการตีตกคำร้องของผมจริงๆ ผมก็จะไปยื่นถวายฎีกาต่อประธานองคมนตรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากท่านเป็นถึง ส.ว.ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ท่านและ ส.ต.ท.หญิงเป็นกิ๊กกัน ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กินเงินภาษีประชาชน แต่กลับกระทำผิดจริยธรรมเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท ควรจะต้องคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนด้วย”

นายวัชระ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ตนยังไม่ได้รับการประสานมาจากคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมว่าให้ไปชี้แจงข้อมูลอย่างไร ทั้งนี้ตนยังไม่ได้รับเอกสารแจ้งจาก พล.อ.สิงห์ศึก ให้แจ้งเอกสารหรือรายชื่อ ส.ว.เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหากมีการประสานมาตนก็ยินดีที่จะไปให้ข้อมูล และฝากถึงบรรดาเมียหลวงของส.ว.ท่านต่างๆ หากมีปัญหาพฤติกรรมเช่นนี้เหมือนกัน ก็สามารถแจ้งมายังตนเพื่อให้ทำการตรวจสอบได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงความคืบหน้าการพิจารณาข้อเท็จจริงคำร้องดังกล่าว พบว่ายังดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการยื่นเรื่องร้องเรียน การรับเรื่องร้องเรียน การนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา และวิธีพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 7 วรรคสาม (2) ประกอบกับ ข้อ 5 (2) คือไม่ได้ “ระบุรายชื่อว่าเป็นสมาชิกวุฒิสภาคนใด” ที่ได้กระทำการ หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับในเรื่องใด และจะต้องระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้ สิทธิยื่นเรื่องร้องเรียนพร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำของสมาชิกวุฒิสภารายดังกล่าวนั้นให้ชัดเจน

ดังนั้น ประธานวุฒิสภาจึงได้มีคำสั่งให้สำนักงานฯ แจ้งไปยังผู้ร้องเพื่อทราบและปรับปรุงแก้ไขเรื่องร้องเรียนดังกล่าวให้มีความถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นไปตามระเบียบ รวมทั้งประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี สถานีตำรวจภูธรชะอำ และสถานีตำรวจภูธรหัวหิน เพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น สำหรับประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอีกทางหนึ่ง