สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอมนี เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ว่า กระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี ระบุว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ลดลง 10.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เยอรมนีตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 65% ภายในปี 2573 และบรรลุความเป็นกลางสภาพอากาศ ภายในปี 2588

รายงานล่าสุดจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมสหพันธรัฐเยอรมนี (ยูบีเอ) เผยให้เห็นว่า การปล่อยมลพิษของประเทศ คาดว่าจะลดลงเกือบ 64% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2533 จากเดิมที่รายงานปี 2564 ประมาณการตัวเลขไว้เพียง 49%

“การคาดการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า เราอยู่บนเส้นทาง และเราสามารถบรรลุเป้าหมายการปกป้องสภาพอากาศ ในปี 2573 ได้” นายโรแบร์ต ฮาเบค รมว.เศรษฐกิจเยอรมนี กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงเบอร์ลิน

อนึ่ง การลดลงส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรม เนื่องจากบริษัทหลายแห่งในภาคส่วนที่ใช้พลังงานมาก เช่น การผลิตอะลูมิเนียม, เหล็ก และสารเคมี ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และความต้องการที่ลดลง รวมถึงการใช้ถ่านหินที่ลดลงเช่นกัน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเยอรมนีคาดหวังกับ “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่” และมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการรักษาแนวโน้มการปกป้องสภาพอากาศ ตลอดจนดำเนินแผนงานต่าง ๆ เพื่อจูงใจโครงการเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ฮาเบค กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของราคา ที่เกิดจากการยุติการนำเข้าพลังงานราคาถูกของรัสเซีย ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป และผู้บริโภคต่างตระหนักถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ภาคส่วนการขนส่ง ซึ่งประสบความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง ในการบรรลุเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังคงเป็นปัญหาต่อความพยายามด้านสภาพอากาศของเยอรมนี.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES