เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ และทรวงอก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ผลกระทบของฝุ่นควัน และ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ที่จริงฝุ่น PM2.5 มีปัญหามาตั้งแต่เดือน พ.ค. เรื่อยมา จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงพีคในเดือน มี.ค. นี้ โดยเฉพาะสัปดาห์ที่สองนี้พุ่งสูงมาก มีผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเกี่ยวกับ PM 2.5 อาการปานกลาง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล มาที่แผนกผู้ป่วยนอก เช่น ภูมิแพ้กำเริบ เลือดกำเดาไหล เป็นเลือด หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูกโตขึ้น หอบหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้น มีทุกวันวันละหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับฤดูที่หมดฝุ่นไปแล้ว ส่วนผู้ป่วยหนักที่ต้องนอนไอซียู หรือมาที่ห้องฉุกเฉิน ใส่เครื่องช่วยหายใจ เช่น สโตรก ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเยอะขึ้นหลายเท่าตัว อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ผู้ป่วยต้องนอน รพ. อยู่ไอซียูแต่ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ พบเพิ่มขึ้นด้วยอาการปอดอักเสบ หอบหืดกำเริบ ไอเป็นเลือด ติดเชื้อในปอด นี่คืออาการเจ็บป่วยที่สูงขึ้นจากค่า PM 2.5 ในเกณฑ์วิกฤติ แล้วผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเสียชีวิตก่อนมาถึงไอซียูด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ เมื่อนำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์ ปีแล้วปีเล่า เพื่อแยกให้ชัดเจน หรือตัดปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยในลักษณะเดียวกันว่า ผู้ป่วยรายนั้นเจ็บป่วยจากอย่างอื่น หรือ PM 2.5 และมีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเราพบชัดเจนว่า 1. ทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะทำให้คนเชียงใหม่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6% ภายใน 1 สัปดาห์หลัง PM 2.5 เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้เป็นการเสียชีวิตทันที เพราะอาจจะได้รับการรักษาด้วยยาต่างๆ แต่เมื่อการอักเสบไปถึงจุดหนึ่ง จะทำให้เขาเสียชีวิตจากสโตรก เส้นเลือดสมองแตก หรือตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ โรคปอดกำเริบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตตามมา นี่คือข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่ได้แตกต่างไปจากงานวิจัยของทั่วโลก 2. มาห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้นชัด พิษภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ของทุกปี มากบ้าง น้อยบ้างตามแต่ปัญหา PM 2.5 แต่ปีที่ผ่านมาและปีนี้ถือเป็นปีที่แล้ง โดยเฉพาะเดือน มี.ค. ที่ชัดเจนมาก มีจุดเผาในเชียงใหม่สูงขึ้นกว่า มี.ค. 2566 กว่า 40% ส่วน ม.ค.-ก.พ. ที่รัฐบาลบอกว่าจุดเผาลดลง 40% นั้น ก็เป็นเพียงข้อมูลของ 2 เดือนนั้น แต่ มี.ค. นี้ จุดเผาเพิ่มขึ้น 40% ยังไม่นับรวมจุดเผาจากจังหวัดรายรอบ และประเทศเพื่อนบ้าน

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวถึงกลไกการเกิดสโตรกจากกฝุ่น PM 2.5 ว่า ชัดเจนเลย อย่างเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่เสียชีวิตจากสโตรกระหว่างการเข้าดับไฟที่จังหวัดน่าน เพราะ PM2.5 ทำให้เกิดการอักเสบไปในเส่นเลือดฝอย เส้นเลือดขนาดเล็ก เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ซึ่งการอักเสบเหล่านี้ทำให้เส้นเลือดปริ มีคนที่เลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด ก็เพราะหลอดเลือดปริตั้งแต่จมูก ผนังหลอดลม แล้วเส้นเลือดเหล่านี้มีไปยังอวัยะภายใน หัวใจ สมอง หากเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเหล่านี้เกิดการอักเสบ เกิดสมองขาดเลือดทำให้เส้นเลือดสมองตีบ แตก เรียกว่าสโตรก กลุ่มเปราะบางคือคนที่มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูงวัย บางคนขาดยา หรือไม่ได้รับการรักษา ก็ป่วยได้ บางครั้งเกิดฉับพลันทันที เสียชีวิตเฉียบพลันทันที

“PM2.5 เป็นฆาตรกรที่ฆ่าได้หลายรูปแบบ ฆ่าด้วยโรคหลายโรค ทำให้ภูมิแพ้กำเริบ หอบหืดกำเริบ ทำให้เสียเลือดในสมองตีบ แตก ตัน เป็นสโตรกเสียชีวิต หรือป่วยคาไอซียูได้ PM2.5 ทำให้เส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ แตก ตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว เสียชีวิต ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เนื้อปอดอักเสบ ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดอย่างรุนแรง แล้วทำให้โลหิตเป็นพิษ เสียชีวิตได้ แล้ว PM 2.5 ยังทำให้ไตเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ทำให้เบาหวานควบคุมได้ยาก ระยะยาวทำให้เกิดมะเร็งปอดแม้แต่คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ก็เป็นมะเร็งปอดได้” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบรวดเร็ว รุนแรงบางครั้งเป็นความเสียหายที่กลับคืนไม่ได้ ดังนั้นควรอยู่ในห้องที่มีเครื่องฟอกอากาศ ขอให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน เลือกทำเฉพาะที่จำเป็น และใช้เวลาไม่นาน ระหว่างนั้นก็ควรสวมหน้ากากอนามัย N 95 ด้วย แต่ไม่ควรสมหน้ากากดังกล่าวเพื่อหวังทำกิจกรรมทั้งวัน เพราะประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 70-80% เท่านั้น อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ การพัฒนาทางสมองยังน้อย เวลาไปโรงเรียนแล้วให้ทำกิจกรรมภายนอก บางแห่งไม่มีเครื่องฟอกอากาศ หรือมีแต่ไม่เปิดใช้ หากสูดฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานาน กำเดาไหล เป็นหวัด เจ็บคอ หอบหืด ระยะยาวจะทำให้สมองมึนงง ความคิดความอ่าน การพัฒนาการทางสมองน้อยลง ถ้าสัมผัสอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะเป็นเด็กที่ขาดสมาธิ หลุกหลิก อยู่ไม่นิ่ง เพิ่มมากขึ้น

ส่วนระดับนโยบาย ต้องใส่ใจให้สมเป็นวาระแห่งชาติจริงๆ ต้องรู้ลึกในพื้นที่ป่าแต่ละแห่ง ซึ่งมีปัจจัยการเผาไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมจากชุมชนค่อนข้างสูง ต้องมีงบประมาณ ให้เครดิต และที่สำคัญคือการกำหนด หรือควบคุมการเผา โดยเจรจาเจ้าพ่ออุตสาหกรรมเกษตรในการยกเลิกการนำเข้าพืชเชิงเดี่ยว ที่ข้ามจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าประเทศไทยโดยไม่เสียภาษี ซึ่งทำให้เกิดการทำลายป่า ปลูกข้าวโพด เผาแล้วนำเข้าสู่ประเทศไทย แล้วแถมควัน PM 2.5 ให้ด้วย เป็นมหกรรม Smoke in the City ฝุ่นสูงพรวดพราด หากเราคุมได้ในช่วงนี้ จะเป็นผลดีกับการท่องเที่ยวของไทย และสุขภาพของคนในประเทศรวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งปัจจุบันคนที่รู้ ต่างก็หนีไปเที่ยวที่อื่นหมดแล้ว รวมถึงคนที่วางแผนเกษียณในไทยก็ไม่มา.