องค์ความรู้ด้านการผลิตถ่านกรองก๊าซจากกะลาปาล์มโดยเทคนิคการกระตุ้นร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเอิบชุ่มเพื่อเกิดองค์ความรู้การ พัฒนาคุณสมบัติ “ถ่าน” ที่ปกติมีเพียงแต่คุณสมบัติการดูดซับให้สามารถปล่อยกลิ่นหอมและดูดกลิ่นอับชื้น กลิ่นเหม็น

ขณะที่ “จานรองแก้วและบล็อกปูพื้นจากเศษพลาสติก” ผลงานวิจัยและพัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ ผลิตภัณฑ์จานรองแก้วหรือบล็อกปูพื้น ใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งประเภทพลาสติก สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม หรือ ผลิตภัณฑ์จากเปลือกไข่ที่จัดเป็นขยะอินทรีย์ที่ไม่มีมูลค่า พัฒนาเป็นชอล์กที่มีคุณสมบัติไล่มด โดยเมื่อหมดความจำเป็นในการใช้งาน สามารถนำมาใช้เป็นสารปรับปรุงดินที่เป็นกรด ปรับสภาพดินที่เป็นแหล่งอาหารให้กับมนุษย์และสัตว์ ฯลฯ เป็นผลงานส่วนหนึ่งโดยที่ผ่านมา ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรม
หุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ในฐานะผู้แทน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

นำผลงานโครงการเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนต้นแบบ “ตาลเดี่ยวโมเดล” และโครงการพัฒนาต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อร่วมขับเคลื่อน โครงการหน่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชนจังหวัดระยอง โดย วว. ได้รับเกียรติจาก ไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเยี่ยมชมผลงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานและประชาชน ณ โรงยิมเนเซียม เทศบาลตำบลบ้านฉาง ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

ทั้งนี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานแกนหลักร่วมกับพันธมิตรขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้โครงการ ตาลเดี่ยวโมเดล ในการจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน โดยขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติจริงในพื้นที่จ.สระบุรี และเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ การจัดการขยะชุมชน โดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และเพิ่มมูลค่าขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้นแบบการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ทั้ง Material Recovery Facility : MRF เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1,000 ตันต่อปี

พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และ Smart Re cycling Hub เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ 50,000 ตันต่อปี รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่สำคัญขับเคลื่อนการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบนิเวศเมืองนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติ เพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของสระบุรี และเป็นพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และขับเคลื่อนรายสาขา (Sector) อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทยต่อไป.