เมื่อวันที่ 22 มี.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมเปิดบ้านการเรียนรู้ “ปีทองแห่งการอ่านออก เขียนได้ ลายมือสวย” ประจำปีการศึกษา 2566 จัดโดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 3 ร่วมด้วยโรงเรียนในสังกัด 181 โรงเรียน ณ หอประชุมโรงเรียนอนุบาลวานรนิวาส (ราษฎร์บำรุง) และมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ Facebook live เพจ สพป.สกลนคร เขต 3 โดยมี ศึกษาธิการจังหวัดสกลนคร ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่ม ศึกษานิเทศก์ คณะผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัด สพป.สกลนคร เขต 3 เข้าร่วมงานกว่า 500 คน

การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัมมนาทางวิชาการ ถ่ายทอดเทคนิค/วิธีการและผลงานของผู้บริหารและครูผู้สอนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาให้นักเรียนได้แสดงออกทางทักษะทางวิชาการ ความสามัคคี และความสัมพันธ์อันดีต่อกันของคณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด และสร้างขวัญกําลังใจให้แก่นักเรียน ครูผู้สอน และผู้บริหารสถานศึกษาที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นในการพัฒนาการอ่านและการเขียน

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมงานในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงผลงานเชิงประจักษ์ที่เกิดจากร่วมใจ ร่วมทำงาน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ วิธีการสอน สื่อการเรียนรู้ ของครู ผู้บริหารในสังกัดเดียวกัน และการศึกษาพิเศษ “สิ่งที่โดดเด่นที่เห็นได้ชัด คือ ความร่วมมือร่วมใจและความตั้งใจของ สพป.สกลนคร เขต 3 โดยการนำของ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ร่วมกับ รอง ผอ.เขตพื้นที่ฯ ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการอ่านออก เข้าใจ คิดวิเคราะห์ต่อยอด เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและสื่อสารออกมาได้อย่างเข้าใจเชิงสร้างสรรค์ โดยเน้นพื้นที่เป็นฐานในการขับเคลื่อนตามนโยบายของ รมว.ศธ. และจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดงานครั้งนี้ เป็นฐานของการคิดต่อยอดของ ผู้บริหาร และคณะครู เพื่อพัฒนา Best Practice ของแต่ละโรงเรียน ให้กลายเป็น Best ของทุกโรงเรียน เป็นองค์รวมในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเลิศต่อไป ให้นักเรียนสามารถได้รับคุณภาพการศึกษาดีอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเรียนที่ใดก็ตาม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้ฝากผู้บริหาร และคณะครู ในประเด็นต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา อาทิ การส่งเสริมการอ่านของนักเรียน เป็นประตูบานแรกที่สำคัญให้เด็กรักการอ่าน ซึ่งนอกจากอ่านคล่อง เขียนคล่องแล้ว ต้องมีความเข้าใจ วิเคราะห์จากหนังสือที่อ่านเชื่อมโยงในวัยของเด็กได้ โดยเน้นย้ำตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. เมื่อนักเรียนรู้ว่าตนเองมีความสนใจอะไร ก็จะเกิดสภาวะที่อยากรู้ อยากเรียน อยากทำ ตามความถนัดและความสนใจของนักเรียน โดย ผอ.รร. และครู สามารถส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ Anywhere Anytime ให้กับผู้เรียนได้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนแบบใหม่ให้เหมาะสมกับเด็กในยุคดิจิทัล อย่ายึดติดกับกรอบเดิม ๆ โดยเน้นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ติดตัวนักเรียนทั้ง 8 ประการ และสร้างสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ด้าน ส่วนในเรื่องการบริหารการใช้หลักสูตรนั้น โรงเรียนสามารถบูรณาการการจัดการเรียนรู้ได้ จากเดิมที่ต้องใช้ตัวชี้วัดทุกตัว 2,056 ตัวชี้วัดและต้องมีร่องรอยหลักฐานของการเก็บและประเมินผล ปัจจุบันเก็บเพียง 771 ตัวชี้วัดที่ใช้วัดและประเมินผล ส่วนที่เหลืออีก 1,285 ตัวเอาไปจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับ Active learning ซึ่ง ผอ.รร. ต้องเป็นผู้นำที่จะต้องบ่มเพาะผู้เรียนให้ครบทั้ง 3 ส่วน คือ ผู้นำในการทำ PLC และบูรณาการ 3 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องแยกวิชาในการเรียนการสอน แต่ควรใช้ทุกอย่างเชื่อมโยงและทำให้กลมกล่อมและกลายเป็นห้องเรียน Active learning ที่ทำให้เด็กคิด ลงมือปฏิบัติ และสื่อสารออกมาได้ด้วยความเข้าใจตามจุดประสงค์ของแผนการจัดการเรียนรู้

ต้องเป็นผู้นำ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ อำนวยการทุกเรื่อง นำไปสู่การครองใจ สามารถส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ ให้เด็กได้รับการชื่นชม การยอมรับจากครู จากชุมชน ให้ทุกโรงเรียนแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง และดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาได้ทุกคน โดยฝีมือของ ผอ.รร. เช่นเดียวกับการขับเคลื่อน PISA 2025 ครู และ ผอ.รร. คือคนสำคัญที่จะทำให้เด็กของเราเก่งขึ้นได้ ซึ่งการที่จะดำเนินการเหล่านี้ได้ ต้องปลดรั้วโรงเรียน ต้องคุยกันระหว่างผู้บริหารด้วยกัน แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้นักเรียนได้รับคุณภาพอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ผู้ปกครองชื่นชมและเกิดความศรัทธาต่อไป