เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาในคดีที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ฟ้องอธิบดีกรมศิลปากร กรณีการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งทางวัดเห็นว่า การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานดังกล่าวไม่ถูกต้อง และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการกำหนดแนวเขตที่ดินโบราณสถานของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (เฉพาะส่วน)

โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทางวัดไม่คัดค้านการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน รายการสิ่งสำคัญจำนวน 16 รายการ แต่ในส่วนการกำหนดเขตที่ดินของทางวัดเป็นเขตของโบราณสถานนั้น ศาลเห็นว่า แม้อธิบดีกรมศิลปากร มีอำนาจดุลพินิจในการกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถานแต่การใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าวต้องคำนึงถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2504

ดังนั้นการที่อธิบดีกรมศิลปากรใช้อำนาจกำหนดเขตที่ดินเฉพาะส่วนที่ทางวัดคัดค้าน จึงเป็นการใช้อำนาจรอนสิทธิหรือจำกัดสิทธิเหนือพื้นดินของวัดทำนองเดียวกับการใช้อำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และถือเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตของโบราณสถานที่เกินส่วนแห่งความจำเป็นตามมาตรา 37​ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองนครศรีธรรมราชจึงพิพากษาห้ามอธิบดีกรมศิลปากร​ กระทำการกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตของโบราณสถานเฉพาะส่วนที่ทางวัดคัดค้าน.