เมื่อวันที่ 24 มี.ค. แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  เปิดเผยถึงกรณีมีผู้ร้องเรียนต่อ กกต.พิจารณา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคภูมิใจไทย จากกรณีรับเงินบริจาค หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ว่า กรณีนี้มีหลายคนมองว่า พรรคภูมิใจไทยต้องถูกยุบจากกรณีดังกล่าว และกล่าวหาว่า กกต.มีการเลือกปฏิบัติระหว่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล ว่า เหตุใดพรรคก้าวไกลที่ถูกร้องเรียนทีหลัง กกต.กลับยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่พรรคภูมิใจไทยที่ถูกร้องเรียนเข้ามาก่อน

แหล่งข่าวได้ชี้แจงว่า เรื่องนี้ต้องบอกว่าทั้ง 2 พรรคการเมืองนั้นถูกร้องเรียนกันคนละประเด็น และใช้คนละมาตรา โดยในส่วนของพรรคก้าวไกลนั้นจะใช้มาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเหมือนกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีคนพิพากษามาแล้ว คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการประชุมกว่า 62 ครั้ง และชี้มาให้เห็นแล้ว ส่วนพรรคภูมิใจไทย จะใช้มาตรา 93 ต้องใช้เวลา เพราะไม่มีใครมาชี้ให้ก่อน ดังนั้นทาง กกต.จำเป็นต้องเป็นผู้รวบรวบพยานหลักฐานเอง

อีกทั้งการร้องเรียนพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคยังเป็นการร้องเรียนคนละฐานความผิด โดยพรรคก้าวไกลถูกร้องเรียนความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนพรรคภูมิใจไทยถูกร้องเรียนเรื่องเงินผิดกฎหมาย ซึ่งการจะถูกยุบในกรณีของพรรคภูมิใจไทยนั้นจะมีอยู่ 3 องค์ประกอบ หากมีแค่เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็สามารถถูกยุบได้ คือ 1. วิธีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เหมือนกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงิน 2. คนให้ไม่มีคุณสมบัติ หรือคุณสมบัติต้องห้าม และ 3. ที่มาของเงินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของพรรคภูมิใจไทยคือ 1. เรื่องที่มาของเงิน ซึ่งการบริจาคเงินนั้นกฎหมายไม่ได้ห้าม 2. คุณสมบัติของผู้ให้ กรณีนี้ต้องแยกกับข้อกล่าวหาเรื่องการอำพรางหุ้นออกจากกัน เพราะในข้อนี้จะดูถึงการเป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งบริษัทก็จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่า มีคุณสมบัติสามารถบริจาคเงินได้ 3. ที่มาของเงินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ นี่คือประเด็น

“กกต.ไม่ได้มีหน้าที่ในการชี้ว่า เงินนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ คนที่มีอำนาจชี้ตรงนี้ได้ คือ ศาล, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หากชี้มาวันไหน ทาง กกต.ก็สามารถดำเนินการต่อได้ในวันนั้น สรุปคือ ต้องมีคำพิพากษามาให้ กกต. ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ แล้ว กกต.ใหญ่มาจากที่ไหนถึงให้ไปชี้ว่าเงินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เช่นนั้นต่อไป หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเงินก็มายื่นที่ กกต.ได้ทั้งนั้น” แหล่งข่าวกล่าว  

แหล่งข่าวจาก กกต.ได้อธิบายอีกว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นการอำพรางหุ้น แต่ไม่ได้บอกว่าเงินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตรงนี้เป็นคนละประเด็นกัน เพราะการอำพรางหุ้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมายอีกแบบ ดังนั้น ตราบใดที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ไม่ได้ชี้ว่าเงินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เงินนั้นก็ถือว่าถูกกฎหมาย แต่คนอาจจะมองว่า กกต.ไปอุ้มภูมิใจไทยหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะนี่คือกระบวนการตามกฎหมายแท้ๆ แน่นอนว่า คนอาจจะมองว่าเงินนี้มีปัญหา แต่คนนั้นก็ไม่ใช่ผู้ตัดสิน แล้วมาบอกว่า กกต.เลือกปฏิบัติ นั่นก็คือ คนมอง ใครตัดสิน กฎหมายว่าอย่างไร กรณีนี้จะรอดหรือไม่รอด ไม่รู้ แต่หากมีคนไปฟ้องต่อศาล หรือหน่วยงานที่มีอำนาจ แล้วมีการชี้ว่า เงินนั้นผิดกฎหมาย กกต.ก็จะสามารถดำเนินการต่อได้ แต่ กกต.ไม่ได้เป็นคนฟ้องแทน เพราะฉะนั้นเราไม่ได้อุ้มใคร แต่เราไม่มีอำนาจให้ทำ นี่คือกฎหมาย

เมื่อถามว่า ตอนนี้สิ่งที่ กกต.ทำได้เกี่ยวกับข้อร้องเรียนดังกล่าว แหล่งข่าวกล่าวว่า ตอนนี้คาอยู่ อย่างพลังประชารัฐ เงินสีเทา ซึ่งถามไปยัง ปปง. แต่เขาไม่ชี้มาก็ทำไม่ได้ เหมือนกับอันนี้ ต้องมีการพิสูจน์ว่า เงินที่เอามาบริจาคนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเขาอาจบอกว่าเงินประมูล หรือเอาเงินก้อนไหนมาบริจาค

ส่วนกรณีเงินบริจาคซึ่งก็เป็นของบริษัทที่เป็นนอมินีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็คนส่วนใหญ่จะมองอย่างนั้น แต่หากบริษัทนั้นอาจจะทำหลายอย่าง เงินนั้นอาจจะได้มาก่อน หรือมาหลังก็ได้ ดังนั้นต้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจชี้มาก่อน เพราะหากผู้ถูกร้องมาชี้แจงก็ย่อมชี้แจงว่าเงินนั้นชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นเงินไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องให้กฎหมายเป็นคนพูด เราคิดเองไม่ได้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ตอนนี้อยู่ในชั้นอนุกรรมการ และอยู่มานานปีกว่าแล้ว เพราะ กกต.รอเงื่อนไขที่ 3 นี้ ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กกต. ส่วนเงื่อนไขที่ 1, 2 นั้นถูกแล้ว