บริษัทสำรวจและประเมินคุณภาพอากาศสัญชาติสวิส “IQAir” เผยรายงานสรุประดับคุณภาพอากาศของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีการจัดอันดับ “เมืองที่มีมลพิษในอากาศมากที่สุดในโลก” ประจำปี 2566 ซึ่งปรากฏว่าใน 100 เมืองแรก ที่ติดอันดับเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลกนั้น เป็นเมืองในทวีปเอเชียถึง 99 เมือง

ยิ่งไปกว่านั้น ในกลุ่ม 100 เมืองแรกที่มีอากาศเป็นพิษสูงสุด อินเดียคือประเทศที่มีเมืองในกลุ่มนี้ มากที่สุดเป็นจำนวน 83 เมือง เท่ากับประชากรชาวอินเดีย 96% ต้องหายใจด้วยอากาศที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ขององค์การอนามัยโลกราว 7 เท่า (มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ปริมาณ PM2.5 ในอากาศไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)

ส่วนเมืองที่อยู่นอกทวีปเอเชียเพียงเมืองเดียว ที่ติดอยู่ใน 100 อันดับแรกของเมืองอากาศแย่ที่สุดในโลก คือเมืองเบโนนิจากแอฟริกาใต้

เมืองเบกูซาไร ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย คือเมืองที่มลพิษในอากาศมากที่สุดในโลก มีระดับ PM2.5 อยู่ที่ 118.9 ไมโครกรัมต่อพื้นที่ 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับที่กำหนดไว้ว่าไม่เป็นอันตรายขององค์การอนามัยโลกถึง 23 เท่า

สำหรับอีก 4 เมือง ที่ติด 5 อันดับแรกของเมืองที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ได้แก่ คุวาหาฏี (อินเดีย), เดลี (อินเดีย), มัลลานปุระ (อินเดีย), ลาฮอร์ (ปากีสถาน)

แม้ว่าอินเดียจะมีเมืองที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกเป็นจำนวนมาก แต่ประเทศที่มีมลพิษในอากาศมากที่สุดในโลกคือบังกลาเทศ ด้วยระดับ PM2.5 79.9 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก 16 เท่า

สำหรับ 5 ประเทศแรกที่มีมลพิษในอากาศมากที่สุดในโลก ได้แก่ บังกลาเทศ, ปากีสถาน, อินเดีย, ทาจิกิสถาน, บูรกินาฟาโซ ในเขตแอฟริกาตะวันตก

ส่วนกรุงเทพฯ ประเทศไทยนั้น ในรายงานระบุว่า อยู่ในอันดับที่ 1,052 ของเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก โดยมี อ.พาน จ.เชียงราย อยู่อันดับที่ 115 และเป็นอันดับสูงสุดของเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลกของไทย

ที่มา : nextshark.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES