เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 25 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา (สว.) วาระอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

โดยนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว.เรื่องหนี้ครัวเรือน ว่า พูดกันทั่วไปว่า “นายกรัฐมนตรีที่ชื่อเศรษฐา จะพาคนไทยไปเป็นเศรษฐี” หรือ “ปิดสวิตช์ สว. ปิดสวิตช์ 3 ป. เพื่อไทยเป็นรัฐบาล ประเทศไทยเปลี่ยนทันที คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรี” ยังก้องอยู่ในโสตประสาทคนไทยทั่วประเทศ ตามที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่าไว้ ตอนนี้คนไทยเป็นอย่างไร ประเทศไทยตอนนี้มีหนี้ครัวเรือน ร้อยละ 92 ของจีดีพี หรือประมาณ 6.2 ล้านล้านบาท ขอถามนายกรัฐมนตรีว่าท่านจะแก้ไขอย่างไร

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตามรัฐธรรมนูญ ในกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่าให้มีกลไกความรับผิดชอบทางการเมืองที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบ นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงินตามประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงิน ความคุ้มค่าผลกระทบและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายนี้ จากเอกสารแจกแจงรายละเอียดที่เผยแพร่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า พรรคเพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะแจกเงินให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ประมาณ 56 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ประกาศทุกเวทีว่าจะไม่กู้เงิน แต่ตอนนี้เป็นอย่างไร ยังไม่รู้จะไปไหน ตนมีข้อสังเกตว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลมีลักษณะสัญญาว่าจะให้  “ใส่ซองพันสองพันก็ยังผิด อันนี้หาเสียงโจ่งครึ่มเลย อาจจะผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 73(1) ที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัครผู้ใดเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด มีโทษจำคุกหนึ่งถึง 10 ปีปรับ 20,000 ถึง 200,000 เพิกถอนสิทธิ 20 ปี” แต่ กกต. กลับบอกว่าทำได้ เพราะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ได้ระบุว่านโยบายนี้จะทำหน้าที่เป็นชนวนกระตุกเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ขยายกิจการผลิตสินค้า เกิดการจ้างงานการหมุนว่างานเศรษฐกิจอีกหลายรอบ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และมีการแถลงนโยบาย 11 กันยายน 2566 แต่กลับไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล ตนตั้งข้อสังเกตว่า จะเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ปี 60 มาตรา 162 หรือไม่ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ครม. ที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ

“ผมดูคำแถลงนโยบายมี 42 หน้า หายไปบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ 42 หน้า ไม่ได้บอกว่าเอาเงินมาจากไหนเหมือนที่โฆษณาหาเสียง และนายกฯ เศรษฐา ก็ไม่ได้พูดนอกเหนือจากคำแถลงนโยบาย” นายเฉลิมชัย กล่าว

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า นายเศรษฐา ได้แถลงข่าวอ้างวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมีเงื่อนไขเปลี่ยนไป ทำให้ต้องกู้เงิน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ ตอนหาเสียงบอกจะใช้งบประมาณ ปี 67 ตั้งรัฐบาลได้ บอกผมขอกู้ เป็นข้อบ่งชี้ว่าการหาเสียงที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีความรับผิดชอบ สักแต่จะให้ชาวบ้านเลือก นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่า การหาเสียงแบบนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปสำหรับพรรคการเมือง ตนจึงขอกล่าวหาด้วยวาจาว่าการที่ กกต. ใช้ดุลพินิจในนโยบายดิจิทัล บอกว่าทำได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 หรือไม่ ถ้าขาดก็เป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พร้อมถามว่า ป.ป.ช. เปิดโทรทัศน์ดูหรือเปล่า ถ้าเปิดดู ขอให้ทราบว่าผมกล่าวหาไปแล้ว ในเมื่อ กกต. บอกว่าทำได้ ก็ไปคุยกันที่ ป.ป.ช.

นายเฉลิมชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังบอกว่าปัญหาเศรษฐกิจยังไม่วิกฤติ เพียงแต่ชะลอตัว นายกรัฐมนตรีก็เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เลื่อนแล้ว เลื่อนอีก เลื่อนต่อไป นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นั่งอยู่ตรงนี้ ก็บอกว่าแจกแน่นอน แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ เพราะมีคนคอยดักตีหัวอยู่ ตนถามว่าจริงหรือไม่ ถ้าไม่แจก เจ๊งเลยนะ เพราะเป็นนโยบายที่คนที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เสียงดังฟังชัดหาเสียงไว้ พร้อมย้ำว่าหากทำไม่ได้ ก็ยอมรับกับประชาชน จะได้ไม่ติดคุกหัวโต.